′วอเทอร์ ชิป′ เปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืด
ชิปพลาสติกขนาดเล็กที่เห็นอยู่ในภาพนี้ เป็นผลงานการคิดค้นของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส แห่งเมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยมาร์เบิร์กในเยอรมนี ภายในมีวงจรไฟฟ้าขนาดจิ๋วอยู่เพื่อสร้างสนามไฟฟ้าที่มีพลังในการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลได้ เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าขนาด 3.0 โวลต์เข้าไปในภายในตัวชิป
วอเทอร์ ชิป ดังกล่าวนี้มีช่องทางขนาดจิ๋วให้น้ำไหลผ่าน ช่องทางน้ำดังกล่าวจะแยกออกเป็นสองทางในตอนปลาย บริเวณทางแยกด้านหนึ่ง ทีมวิจัยติดตั้งอิเล็กโทรดเข้าไว้ในวงจรเพื่อให้ทำหน้าที่เปลี่ยนอิออนของคลอไรด์ให้อยู่ในสภาพเป็นกลาง ทำให้บริเวณทางแยกดังกล่าวกลายเป็น "อิออน ดีเพลทชั่น โซน" หรือเขตที่ไม่มีอิออน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ทำให้เกลือที่ผสมอยู่ในน้ำทะเลไหลออกไปอีกด้านหนึ่ง ในขณะที่อีกทางหนึ่งนั้นมีเพียงน้ำจืดเท่านั้นที่ไหลผ่านได้ โดยมี อิออน ดีเพลทชั่น โซน เป็นตัวกันเกลือไม่ให้เข้ามาปะปน
เทคโนโลยีนี้ยังเป็นเพียงต้นแบบตามแนวความคิด ชิปที่สร้างขึ้นเพื่อทดสอบนั้น ยังสามารถทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดได้เพียงครั้งละ 1 นาโนลิตรเท่านั้น แต่ทีมวิจัยมั่นใจว่าแนวความคิดนี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงได้ จึงเตรียมพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นในอนาคต และมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมารองรับเพื่อการนี้แล้ว
วอเทอร์ ชิป ใหม่นี้กินไฟน้อย สามารถใช้กับแบตเตอรีสำหรับไฟฉายได้ แตกต่างจากเทคโนโลยีที่มีใช้กันอยู่เดิม ซึ่งต้องใช้กระแสไฟฟ้าสูง และยังจำเป็นต้องมีเมมเบรน หรือแผ่นกรอง นอกจากนั้นด้วยขนาดที่เล็กมากของ "วอเทอร์ ชิป" ยังสามารถทำให้เป็นอุปกรณ์ประจำบ้านได้ เพื่อให้ใครก็ได้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับทะเลมีน้ำจืดดื่มกินได้ด้วยตัวเอง