′ยาสูบ′ เชื้อเพลิงเครื่องบินในอนาคต?
การคิดค้นพลังงานทางเลือกในปัจจุบันถือเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อไม่นานมานี้ โบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐ กำลังทำงานร่วมกับสายการบิน "เซาธ์แอฟริกา แอร์เวย์ส" ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อคิดค้นนำเชื้อเพลิงชีวภาพจากต้นยาสูบสายพันธุ์พิเศษมาใช้กับเครื่องบินเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นอกเหนือจากนั้น สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศประเมินว่า การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพยังสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินท์ได้ราวร้อยละ 80 ทำให้หลายสายการบินเริ่มทดลองใช้พลังานชีวภาพเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองกันแล้ว
เชื้อเพลิงชีวภาพนั้นสามารถผลิตได้จากแหล่งวัตถุดิบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสาหร่าย ไม้ หรือผลผลิตเหลือใช้จากการแปรรูปสินค้าเกษตร แม้แต่กระทั่งกากอาหาร ทั้งยังใช้งานได้ในแบบเดียวกันกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของเชื้อเพลิงชีวภาพเมื่อต้องผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนานใหญ่ชนิดที่สามารถป้อนให้กับอุตสาหกรรมการบิน ก็คือ แหล่งที่มาสำหรับนำมาใช้ในการผลิต นอกจากจะต้องมีมากเพียงพอแล้ว ยังต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาการถกเถียงเรื่องจะเลือก "น้ำมัน" หรือ "อาหาร" รวมไปถึงปัญหาขัดแย้งเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินและน้ำอีกด้วย
นั่นเป็นที่มาว่าทำไม โครงการทดลองของโบอิ้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐที่จะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ จึงหันมาหาต้น "ยาสูบ" สำหรับใช้เป็นแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงชีวภาพในโครงการ
ต้นยาสูบสายพันธุ์ซึ่งนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นต้นยาสูบสายพันธุ์ว่าโซลาริส กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงทั้งหมดนั้นเป็นของสกายเอ็นอาร์จี บริษัทผลิตพลังงานยั่งยืนจากเนเธอร์แลนด์ที่ประกาศพันธกิจพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้สำหรับเครื่องบินโซลาริส เป็นสายพันธุ์ยาสูบที่ปลูกกันอยู่ในแอฟริกาใต้ คุณลักษณะพิเศษของมันคือให้เมล็ดมากกว่าใบยา ซึ่งมีผลดีต่อการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเนื่องจากภายในเมล็ดของมันมีน้ำมันอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง ขณะเดียวกันการใช้ต้นยาสูบเพื่อการนี้ ยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ที่ต้องการรณรงค์ให้ประชาชนสูบบุหรี่น้อยลงอยู่ก่อนแล้ว ถือเป็นประโยชน์ต่อโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบด้วย
เจสสิกา โกวอล โฆษกของโบอิ้งยอมรับว่า การนำเอาเชื้อเพลิงชีวภาพจากยาสูบไปใช้กับเครื่องบินโบอิ้งของสายการบิน เซาธ์แอฟริกา แอร์เวย์สให้ได้หมดทุกลำ คงจำเป็นต้องใช้เวลาต่อไปอีกสองสามปี และแม้จะสามารถเริ่มใช้ได้ในปี 2017 ก็จริง แต่วิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้ก็คือ นำเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตได้ไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่เดิม เพื่อให้การปรับเปลี่ยนเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ แม้การใช้พลังงานชีวภาพเป็นเรื่องดีสำหรับโลก และภาพลักษณ์ของสายการบิน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาใหญ่คือลดต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมการบินจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่คิดเป็นร้อยละ 33 ของค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของสายการบินทั้งหมดได้ และถ้าทุกสายการบินหันไปใช้เชื้อเพลิงชีวภาพพร้อมๆ กัน เห็นได้ชัดว่าต้นทุนเชื้อเพลิงไม่เพียงไม่ลดแต่จะเพิ่มพรวดพราดขึ้นแทน เนื่องจากเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตได้ต่อหน่วยในเวลานี้ยังสูงกว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม โกวอลยืนยันว่าถ้าหากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากยาสูบแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยย่อมลดลงและจะกลายเป็นการประหยัดและเป็นที่นิยมในที่สุด