ล้วงลึก "คิตตี้ เฮาส์" มันสมองคนไทย ดังไกลถึงต่างแดน

ล้วงลึก "คิตตี้ เฮาส์" มันสมองคนไทย ดังไกลถึงต่างแดน

ล้วงลึก "คิตตี้ เฮาส์" มันสมองคนไทย ดังไกลถึงต่างแดน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แค่เพียงเปิดบ้านได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ดี การตอบรับก็ล้นหลาม สำหรับ ซานริโอ้ เฮลโหล

คิตตี้ เฮาส์ แบงค็อก (Sanrio Hello Kitty House Bangkok) คอมเพล็กซ์แห่งแรกของเมืองไทย ภายในอาคารสยามสแควร์ วัน ด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ด้วยคอนเซ็ปต์ "บ้านแห่งความสุข" ที่รวบรวมเอาความโดดเด่นหลากหลายมิติมาไว้ในที่เดียว ทั้งคาเฟ่ ช็อปสินค้าแฟชั่น และนวดสปา

"หรีด" รพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์ หนึ่งในพันธมิตรทางธุรกิจ ภายใต้บริษัท ดรีม เฮ้าส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงความเป็นมาของบ้านแมวสีชมพูแห่งแรกในประเทศไทยว่า บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นจาก 4 พันธมิตรที่คิดเหมือนกันว่า เราจะทำอย่างไรที่จะนำ "ของดีเมืองไทย" นำเสนอออกไปให้ต่างประเทศยอมรับได้อย่างรวดเร็ว จึงนำ 3 จุดแข็งของไทยที่ทั่วโลกรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย, นวดไทย และหัวใจการบริการของคนไทย มานำเสนอผ่านแมวสีชมพู "คิตตี้"

"เมื่อนำ 3 จุดแข็งของไทยมารวมกัน แต่เปิดร้านธรรมดา คนก็เฉยๆ ไม่ฮือฮา แต่แมวอินเตอร์สีชมพูที่ชื่อว่าคิตตี้ ที่อยู่ในหัวใจคนทั่วโลก และไม่ได้อยู่เฉพาะเด็กๆ แต่อยู่ในหัวใจคนทุกเพศทุกวัย อย่างหรีดเอง วันนี้จะ 60 ปีแล้ว ยังชอบคิตตี้ จึงนำ 3 จุดเด่นของวัฒนธรรมไทยมารวมกัน แล้วขอเกาะแมวอินเตอร์ที่คนทั่วโลกรู้จักไปด้วย แบบเนียน ไม่กระแทกให้รู้จัก เพราะกระแทกให้รู้จักจะไม่เกิด แต่ซึมให้รู้จัก จะเกิดได้อย่างแนบเนียน แล้วไปได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแมวอินเตอร์กว่าที่เขาจะสร้างมา เขาหมดไปเท่าไหร่ แต่เราขอไปด้วยแล้วกัน"

รพีพรรณอธิบายลึกลงไปในรายละเอียดที่เรียกได้ว่าเป็น "การตลาดสร้างสรรค์" ที่ส่งของดีไทยโกอินเตอร์ได้ไม่ยากเลย

(บน) "ข้าวคลุกกะปิ" สไตล์คิตตี้ เฮาส์ (ล่าง) "กาแฟคิตตี้ สุดน่ารัก


คอมเพล็กซ์ "คิตตี้ เฮาส์" แห่งแรกที่ออกแบบโดย "สมองคนไทย" ซึ่งทั้งหมดเราออกแบบเอง เขาออกแบบไม่ได้ เพราะเป็นที่แรกในโลก

ถ้าเป็นเคเอฟซี หรือแมคโดนัลด์ เราก็ทำตามแบบเขาได้เลย แต่ที่นี่ไม่มี เพราะยังไม่มีในโลกนี้ เราก็ต้องมาคิดคอนเซ็ปต์ว่า อยากให้เฮาส์เป็นแบบไหน โดยคอนเซ็ปต์ต้องทำบ้านหลังนี้ให้เหมือนบ้านจริงๆ ไม่ใช่ร้านอาหาร"

นำเสนอ "อาหารไทย" สร้างสรรค์

"อาหารไทยมีครบรส กินได้ 3 เดือนยังไม่ซ้ำเลย แต่เราจะจัดให้ทานแบบเป็นคำๆ แบบคิตตี้ ผัดไทยมาเป็นคำ ข้าวคลุกกะปิมาเป็นคำ ที่นำข้าวคลุกกะปิมานำเสนอแรกๆ เพราะฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ รู้จักกะปิเป็นอย่างดี แต่เขาทำข้าวคลุกกะปิไม่เป็น เราจึงนำมาสอดแทรกลงไป

นอกจากนี้ ยังมีน้ำ เดรสซิ่งเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสูตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยเสวยและพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะ มีรสชาติกลมกล่อม ไม่เผ็ดโดด มีกลิ่นเฮิร์บ น้ำเดียวจิ้มได้ทุกอย่าง

ซึ่งราคาอาหารของเรา เป็นราคาในเรตของสยามสแควร์ ไม่ใช่ราคาโรงแรม 5 ดาว เพราะเราต้องการสร้างแบรนด์ให้คนรู้จักของดีของคนไทย

"หรีดใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมในแวดวงอาหารมานานกว่า 20 ปี มาทุ่มเทให้ตรงนี้ ซึ่งเมนูอาหารไทยจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุก 2 เดือน แต่ถ้าเมนูไหนเป็นที่นิยมก็ยังจะคงอยู่ ต่อไปจะได้เห็นข้าวพระรามลงสรงมาเป็นคำ ข้าวมันไก่มาเป็นคำ หรีดจะทำให้พะแนง ฉู่ฉี่ เป็นที่รู้จักของต่างชาติให้ได้ ซึ่งถ้าสำเร็จ ต่อไปอุตสาหกรรมเครื่องปรุงทั้งหลายจะขายดี เพราะถ้าคนต่างชาติไม่มาทานที่ไทย เขาก็สามารถเอาไปทำเองได้ มันเป็นการช่วยส่งเสริมให้รู้จักอาหารไทยและอุตสาหกรรมเครื่องปรุงไทย"

โปรโมต "นวดไทย"
"ที่นี่นวดไทยล้วนๆ ไม่มีนวดชวา นวดบาหลี นวดสวีดิช ซึ่งนวดไทยของเราดีไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่นวดไทยกลับเรียกราคาไม่ค่อยได้ เรียกได้ 500 บาท แต่ไม่ถึง 3,000 บาท หรีดนำมายกระดับ แต่หรีดไม่เรียกว่า ไทยมาสสาจ (Thai Massage) เพราะคนรู้สึกเฉยๆ ใช้คำว่า ไทยคิตตี้ สปา"

ด้วยความทุ่มเทที่ใส่ลงไปเกินร้อย เมื่อเฮลโหล คิตตี้ เฮาส์ แบงค็อกสร้างเสร็จ เจ้าของลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น "ปลื้มมาก" ถึงขั้นขอให้ใช้นามสกุล "ซานริโอ้"

"ภูมิใจมากที่สุด และอยากให้คนไทยร่วมกันภูมิใจ คือ เฮลโหล คิตตี้ เฮาส์ ทั่วโลก ทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ซานริโอ้ ไม่เคยให้ใช้นามสกุลนี้"

ด้วยเป็นแบรนด์ระดับโลกที่อยู่ในใจคนทุกเพศทุกวัน วันแรกหลังจากเปิด "บ้าน" การตอบรับจึงล้มหลาม ชนิดที่รพีพรรณก็คาดไม่ถึง

"ช่วงที่เปิดคนออสเตรเลีย สิงคโปร์ จีน มาเลเซีย หรือคนไทยจากขอนแก่น ตรัง นครศรีธรรมราช เห็นข่าวก็บินมาเลย คนเยอะมาก มารอคิวยาวไปถึงถนน วันหนึ่ง 400-500 คิว ตอนนี้เราจึงยังไม่รับทัวร์ เพราะแค่คนไทยยังรับไม่ไหว เราขอเอาใจคนไทยก่อน ขณะเดียวกันก็ไม่อยากทิ้งต่างประเทศ ตอนนี้เราจัดระบบใหม่ แจกบัตรคิว และให้มานั่งได้ 1 ชม. เมื่อครบหนึ่งชั่วโมงจะให้พนักงานพาทัวร์ร้านให้ได้ถ่ายรูป ซื้อของ เพื่อให้ทุกคนได้มาร่วมมีความสุขกับคิตตี้ เฮาส์ ได้อย่างทั่วถึง

"หรีดต้องขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคน อยากให้ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพราะถ้าที่นี่เป็นแลนด์มาร์ค ชาวต่างประเทศมาแล้วประทับใจ เขาจะไปบอกต่อและจะได้กลับมา ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย"

"สุดท้าย ขอขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ เสียงตอบรับที่เกินความคาดหมายเช่นนี้"

ที่มา: มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2557

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook