′เกย์&เลสเบี้ยน′ เสรีภาพทางเพศจริง หรือ แค่อิงกระแส?

′เกย์&เลสเบี้ยน′ เสรีภาพทางเพศจริง หรือ แค่อิงกระแส?

′เกย์&เลสเบี้ยน′ เสรีภาพทางเพศจริง หรือ แค่อิงกระแส?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย พงษ์ผกา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม

"ถ้าบอกว่าเพลงนี้ แต่งให้เธอ เธอจะเชื่อไหม..." เพลงช้าๆ กับเสียงเพราะๆ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง "รักแห่งสยาม" น่าจะคุ้นหูผู้ฟังและแฟนภาพยนตร์เป็นอย่างดี

"สยาม" เป็นแหล่งรวมตัวชื่อดังของวัยรุ่นไทย ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความทันสมัยนิยม อันเปรียบเหมือนหน้ากระดาษที่บันทึกเรื่องราววัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่และสิ่งใหม่ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

ที่แห่งนี้เคยมีภาพของวงไทรอัมพ์คิงด้อม ศิลปินคู่หญิง โบและจ๊อยซ์ ที่นำค่านิยมสายเดี่ยวนุ่งสั้นเข้ามาสู่วัยรุ่นสาวไทย พร้อมกับเพลงผ้าเช็ดหน้า เมื่อ พ.ศ.2542 มาจนถึงฉากที่หนุ่ม ม.ปลายเสื้อขาวกางเกงน้ำเงิน พยายามจะบอกรักเพื่อนชายของตนเองผ่านบทเพลงกันและกัน เพลงรักที่เรียกว่า "หากไม่รักก็เขียนไม่ได้ แต่กับเธอคนดี รู้ไหมฉันเขียนได้ง่ายดาย" ท่ามกลางบรรยากาศของแสงไฟส้มนวลประดับในเทศกาลวันคริสมาสต์ที่สยาม ในปี พ.ศ.2550

กระทั่งดำเนินมาถึง "ฮอร์โมน เดอะ ซีรีส์" ซีรีส์ยอดฮิตของไทยที่สร้างกระแสตื่นตัว ทั้งวัยรุ่นที่ดูจะชอบ "เปิดเรื่องที่ปิด" และผู้ใหญ่ที่ดูจะชอบ "ปิดเรื่องที่เปิด" ซึ่งกล่าวอ้างและตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับวัยรุ่นไทยบ้าง

ตั้งแต่นั้นมา พื้นที่ของกลุ่มเกย์วัยรุ่นขยายตัวมากขึ้น จนกลายเป็นภาพคุ้นชิน เห็นได้จากภาพยนตร์ สินค้า เพลง ที่ขยายตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเพศทางเลือกมากขึ้น

อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อ "ความทันสมัย" หมายรวมถึงพื้นที่ของเพศทางเลือกในกลุ่มวัยรุ่นด้วย!

ไม่ว่าคนรุ่นไหนกลุ่มใด หากเดินเข้าไปที่สยามสแควร์ จะเห็นภาพของหนุ่มสาวจูงมือกันมาเที่ยวหลังจากเลิกเรียน มาเรียนพิเศษ หรือนัดพบเพื่อน แต่ที่เห็นมากขึ้นคือ คู่รักหนุ่มจูงมือหนุ่มกับคู่รักสาวโอบเอวสาวอีกคน จนกลายเป็นภาพคุ้นชินในชีวิตประจำวัน

อะไรคือนิยามของ "ความรัก" แห่ง (พื้นที่) "สยาม"

และ อะไรทำให้ความรักหลากเพศกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม?

คำอธิบายจากประสบการณ์บางส่วนผ่านมุมมองของตะวันตก อยู่ในงานเสวนาหัวข้อ "วัฒนธรรมและขบวนการแห่งเยาวชนเลสเบี้ยนและเกย์" (Eye Wide Open: Affect Theory and Lesbian & Gay Youth Culture and Movement) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศาสตราจารย์ซูซาน ทาลเบิร์ท (Prof. Susan Talburt) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มการเสวนาว่า แนวคิดของผู้ใหญ่ตะวันตกในที่นี้ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มักมองวัยรุ่นเกย์และเลสเบี้ยนว่าสิ่งที่เขาเป็นและแสดงออกเป็นเพียงกระแสที่ไหลเวียนในสังคม

"การเป็นเกย์และเลสเบี้ยนในวัยรุ่นที่ถูกเพื่อนร่วมสังคมรังแก จนเป็นบาดแผลของความทรงจำในวัยเด็กสามารถไถ่โทษความผิดนั้นได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็น ′เกย์และเลสเบี้ยนที่ดีของรัฐ′ ตามหลักสิทธิมนุษยชนเมื่อโตขึ้น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวงจรความคิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมและเชื่อว่ามันเป็นแนวคิดที่ดี ทั้งที่จริงๆ แล้วแนวความคิดแบบนี้เป็นไปเพื่อใช้ความเชื่อเหล่านั้นมาควบคุมความคิดและการแสดงออกของเยาวชนให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อฟังรัฐต่อไปในอนาคต"

ซูซานยกตัวอย่างขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวัยรุ่นเกย์และเลสเบี้ยนที่ชื่อ "โครงการมันจะต้องดีขึ้นแน่" หรือ "It gets better project" โดย แดน ซาเวจ (Dan Savage) ซึ่งบันทึกวิดีโอแสดงความเห็นของตนเอง รวมทั้งจัดทำเป็นเว็บไซต์ หลังจากตระหนักว่า ภาวะสับสนและความกดดันจากสังคมทำให้วัยรุ่นเกย์และเลสเบี้ยนบางคนกระทำอัตวินิบาตกรรม โดยโครงการนี้เสนอตัวเข้ามาช่วยอธิบายถึงสิ่งที่วัยรุ่นเกย์และเลสเบี้ยนเป็น ท่ามกลางภาวะความสับสนทางเพศว่าตัวพวกเขาเป็นอะไรกันแน่ และบอกกับพวกเขาว่า จงมองโลกในแง่ดี อย่าได้มีความคิดร้าย ความละอาย ความเจ็บปวด ที่จะเป็นเพศทางเลือก

"หากพวกเขาผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง"

กระทั่งท้ายสุดแล้ว โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนมากมาย ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพยายามที่จะนิยามให้กลุ่มเพศทางเลือกกลายมาเป็นอีกหนึ่งสถาบันคนดีของประเทศ

ขณะเดียวกัน นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า วัยรุ่นจะเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนก็สามารถเป็นได้ตามสิทธิมนุษยชน เพื่อที่จะให้วัยรุ่นเกย์และเลสเบี้ยนเหล่านั้นโตขึ้นไปเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ

ซึ่งสะท้อนค่านิยมที่ว่า คุณจะเป็นอะไรก็เป็นได้ แต่ท้ายสุดคุณต้องเป็น "คนดี" หรือ "เกย์และเลสเบี้ยนที่ดี" ของรัฐ ตามกรอบคนดีที่รัฐนิยามไว้ โดยนอกจากทำหน้าที่เป็นคนดีของชาติแล้ว ก็จะต้องทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีของกลุ่มเกย์เลสเบี้ยน ซึ่งเป็นกลุ่มพลเมืองหนึ่งของรัฐอีกด้วย

แต่จะเห็นได้ว่า สิ่งนี้คือการใช้ความคิดของผู้ใหญ่เข้าไปจัดการปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่ โดยวัยรุ่นเกย์และเลสเบี้ยนในฐานะผู้ถูกกระทำและผู้ประสบกับปัญหานั้นโดยตรงนั้นก็ยังไม่ได้ออกมาพูดด้วยตนเองเลยด้วยซ้ำ

อ.ทาลเบิร์ทระบุว่า การที่วนเวียนอยู่ในความเชื่อว่า "มันจะต้องดีขึ้น" กลายเป็นว่า สังคมมีความเชื่ออยู่อย่างเดียวก็คือ วาทกรรมที่บอกว่า "เราจะต้องมีความสุข" เพียงอย่างเดียว และกดเก็บความเจ็บปวด ความขัดแย้งเอาไว้ไม่ให้แสดงออกมา ซึ่งสิ่งนี้ก่อให้เกิดความเชื่อมติดของวาทกรรมทุกอย่างปนเปกันไปหมด อาทิ การที่เป็นเพศทางเลือกเป็นความต่างแล้วถูกรังแก แต่ต่อมาได้รับกำลังใจว่าจงเชื่อในสิ่งที่ตนเองเป็นและมีความสุขกับมัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพวกเขาก็ต้องเป็นคนดีของรัฐด้วยจึงจะมีความสุขอยู่ในรัฐนี้อย่างสมบูรณ์ จนไม่สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงได้

"กระทั่งท้ายสุด เมื่อคนเราเกิดความหวังว่ามันจะต้องมีความสุข แต่เมื่อความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้เราไม่สามารถเผชิญหน้ากับความจริงและแก้ปัญหาอย่างตรงจุดได้เลย"

กลับมาสู่กลุ่มวัยรุ่นเกย์และเลสเบี้ยนไทยบ้าง บริบทนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความนึกคิดของผู้ใหญ่นั้นจะเชื่อเหลือเกินว่า เดี๋ยวพอโตขึ้น ความรู้สึกที่วัยรุ่นบางคนเชื่อว่าตนเป็นเพศทางเลือกนั้น ก็จะหายไปและกลับมาเป็นปกติ ซึ่งกลายเป็นเพียงกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากสร้างความปั่นป่วนให้กับช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต

ขณะที่เพื่อนชายที่เป็นเพศทางเลือกคนหนึ่งพูดระคนตลกหรืออย่างไรไม่ทราบว่า "เป็นตุ๊ดนะ ไม่ได้เป็นหวัด ที่แป๊ปเดียวก็หายได้" ซึ่งเป็นประโยคที่สะท้อนมุมมองอะไรได้หลายอย่าง

อีกประการหนึ่งคือ กรณีที่มีการใช้ประเด็นเรื่องเพศมาโจมตีตัวบุคคล ในสนามวิจารณ์ทางการเมืองนั้น อ.ทาลเบิร์ท อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์เจีย กล่าวตอบคำถามที่น่าฉงน ในปัญหาเรื่องเพศที่ทับซ้อนกับปัญหาทางการเมืองของสังคมไทยว่า

"สำหรับประเด็นนี้ในบริบทของประเทศไทย ฉันเองก็ตอบไม่ได้เลย มันขึ้นอยู่กับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของประเทศคุณ ซึ่งแนวคิดเรื่องเพศและแนวคิดเรื่องการเมืองเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันพอจะบอกได้คือ เรื่องเพศสามารถทำนายอนาคตทางการเมืองของประเทศได้ ถ้าหากอยากรู้ว่าประเทศคุณเสรีหรือไม่ ให้ดูว่าประเทศคุณมีค่านิยมจำกัดเรื่องเพศหรือเปิดให้มีเพศทางเลือกที่หลากหลายอย่างแท้จริง

เราต้องไม่ลืมว่า happy ending หรือตอนจบแสนสุขนั้นเป็นแค่เพียงเรื่องโกหกในชีวิตจริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ฉันต้องการจะบอกกับคุณคือ เราต้องยอมรับความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง"

เป็นประโยคทิ้งท้ายที่ท้าทาย "เสรีภาพแห่งความจริง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook