"ต่อ" ผู้ไม่เชื่อเรื่องทางตัน และ "นิ้วกลาง" อันฝังใจ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
หลังใช้เวลาคิดถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในห้วงปีเศษที่ผ่านมา "ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร" ผู้พลิกผันจากนิสิตธรรมดาๆ คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กลายมาเป็นนักแสดงชื่อดัง ก็ว่า ถ้าไม่นับชื่อเสียงและเงินทอง รวมถึงการได้รับคำชมจากพ่อและแม่ว่ามีความรับผิดชอบมากขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งซึ่งเขาเพิ่งตระหนักรู้คือ
"ซีรีส์ฮอร์โมนส์ทำให้ผมมีนิสัยที่เปลี่ยนไปอย่างหนึ่ง คือเพิ่งเจอว่าสุดท้ายตัวเองก็เป็นคนที่รอความหวัง"
ที่พูดอย่างนั้นเพราะก่อนหน้านี้ เขาเป็นคนประเภทที่ถ้าจะทำอะไร ก็ทำเต็มที่ "ทำให้สุดตลอด คิดอย่างเดียวว่าขอให้ไม่ต้องเสียใจทีหลัง ผลลัพธ์เป็นไงไม่รู้ แต่ใส่เต็มที่ไว้"
แต่ตอนนี้กลับไม่ใช่
"ฮอร์โมนส์มันประสบความสำเร็จเกินคาด แล้วเรามีแต่ได้รับ รับๆๆๆๆ จากทุกเสียงรอบข้าง ได้รับจนเราติด จนกลายเป็นนิสัยที่ตัวเองไม่ชอบ"
"เหมือนเราทำเพื่ออะไรบางอย่าง" เขาเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง
"สไตล์ผมเริ่มจากศูนย์ ฉะนั้นมันต้องทำด้วยความรู้สึกว่าไม่มีใครรอ คือจะมีคนรอหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที"
แต่ตอนนี้กลับรู้ว่ามีคนรอคอยจนติดเป็นนิสัย
"ซึ่งมีทั้งข้อดีและไม่ดีนะ" เขาบอก
"เพราะยอมรับว่าทุกวันนี้ถ้าไม่มีแฟนคลับก็แย่เหมือนกัน เขาเป็นกำลังใจที่ทำให้เราผลักต่อไปในงาน"
หากในอีกทางก็เกรงว่าจะเหลิง ระเริง แล้ว "คนมาจากศูนย์ มันลงยาก"
"ยากที่จะกลับไปเหมือนเดิม"
สิ่งที่เขากำลังทำอยู่จึงเป็น "ต้องหาทางใหม่ในการทำทัศนคติให้เหมือนเดิม คือยังเต็มที่กับงานอยู่ แต่ก็มีความหวังได้ด้วย"
เพราะจะว่าไปความหวังไม่ใช่เรื่องไม่ดี "เพียงแต่มันทำให้เราไม่จดจ่อกับสิ่งเดียว"
นอกจากเรื่องนี้ที่คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไป นักแสดงวัย 20 รายนี้ยังว่าหลายสิ่งที่เจอมาในวงการ ยังทำให้เขาเข้าใจอะไรๆ ในโลกนี้มากขึ้น
"พูดตรงๆ ผมเป็นคนไม่สนใจโลก"
หากกระนั้นก็ยัง "เคยมีความคิดที่อยากให้ทุกคนรัก อาจดูงี่เง่านะ แต่เพราะไม่อยากโดนเกลียดไง"
"แต่พอทำงานในวงการนี้ ทำให้รู้ว่าเราทำให้ทุกคนรักเราไม่ได้"
แต่ทั้งๆ ที่ "รู้" เมื่อได้เจอกับตัวเองก็ยังรู้สึกแย่
"เคยโดนคนแกล้งขอถ่ายรูป แล้วชูนิ้วกลางใส่ที่พารากอน เป็นปีแล้ว แต่ยังไม่ลืมมาจนถึงทุกวันนี้"
"วันนั้นปลดล็อกเลยว่าสิ่งที่เราให้ทุกคนมาทั้งหมด" ไม่ว่าจะเป็นความพยายามทำงานให้เต็มที่ ให้งานออกมาดี ไม่ว่าจะเป็นความจริงใจ การบอกเล่าถึงตัวตนโดยไม่หมกเม็ด
แต่เมื่อ "คนรับต่างกัน สุดท้ายก็มีคนไม่ชอบเราอยู่ดี"
"คือวันนั้นจำไม่ได้ว่าผมเสร็จงานแล้ว หรือกำลังจะไปงานอะไรสักอย่าง ก็ไปกินข้าว แล้วกลัวพี่ที่ดูแลเหนื่อย เลยให้นั่งรอที่ร้าน เราก็เดินออกไป ไม่รู้ว่าคนมารอเยอะขนาดนั้น เขาก็ขอถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ระหว่างนั้นรู้สึกว่ามีคนมองเหมือนไม่พอใจ สักพักเขาเดินเข้ามา บอกถ่ายรูปหน่อยดิ เราก็ไม่ได้คิดอะไร จนมันเกิดเดธ แอร์ ทั้งวง งงว่าเกิดอะไรขึ้น พอหันไปเจอนิ้วกลางอยู่ข้างหน้า แล้วเขาแอ๊กหน้าแบบเจ๋งอ่ะ ก็โอเค ไม่ได้อะไร แต่จริงๆ มันทำร้ายจิตใจมาก"
"ฝังใจเลยนะ"
"เพราะสิ่งที่เราทำได้กระแสบวกมาตลอด รู้สึกว่าทำถูกต้องมาตลอด แต่พอเจออย่างนั้น ความคิดแลบออกมาทันทีว่าหรือสิ่งที่เราทำมันผิด"
"ผิดใช่ไหมที่ไม่โกหกเสแสร้ง"
แสดงตัวตนแท้จริงออกมาทุกอย่าง ทั้งลักษณะท่าทาง ทั้งความคิดเห็น ที่ไม่เคยตอบอะไรแบบกลางๆ เวลาโดนถาม หากเลือกที่จะแสดงความรู้สึกจริง อันอาจเป็นเหตุให้มีคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดเขา ไม่ชอบใจ และก็กลายเป็นที่มาของความไม่ชอบ
แต่ไม่เป็นไร
เพราะถึงอย่างไรก็เขาก็คิดว่า เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือดีที่สุดแล้ว
"สิ่งเหล่านี้คือความจริง ถ้าเรากลัวความจริง แปลว่าเรากลัวตัวเองหรือ ผมมีทัศนคติว่าผมเป็นนักแสดง เป็นคนของประชาชน แต่ผมก็เป็นคนคนหนึ่งมีความรู้สึก มีความอยากเหมือนทุกคน เลยพูดเสมอว่างานกับส่วนตัวคือคนละโลกกัน งานคือสิ่งที่เรารัก ชีวิตส่วนตัวคือชีวิตส่วนตัว ไม่เอามาปน"
คนไหนไม่ชอบ "ก็ทำไรไม่ได้"
"ต่างคนต่างความคิด สิ่งเดียวที่ทำได้คือปล่อย แล้วสิ่งที่ทำไปคอนเฟิร์มตลอดว่าเต็มที่แล้ว อยู่ที่คนจะรับมากน้อยแค่ไหน"
"ไม่ใช่ไม่แคร์"
แต่ทำได้แค่นี้จริงๆ-เขาบอก...
นอกจากเรื่องงานที่หนักหนา เรื่องเรียนในชั้นปีที่ 3 ของเขา ต่อบอกว่าก็สาหัสเอาการ
"อยากให้วันหนึ่งมีมากกว่า 24 ชั่วโมง" ต่อบอกพลางหัวเราะ
"บางครั้งทำงานเหนื่อยๆ กลับมาง่วงแล้ว แต่ต้องอ่านหนังสืออีก คนเราน่าจะมีพลังงานอยู่ได้ 24 ชั่วโมง แล้วถ้าวันหนึ่งมี 30 ชั่วโมงจะได้เหลือเวลานอน 6 ชั่วโมงพอดี"
สารภาพด้วยว่าความที่หนักหนาทั้งงานและเรียน เขาจึงมี "ช่วงท้อแท้" และ "ดราม่า" บ้างเหมือนกัน
"รู้สึกคณะนี้ไปไม่ไหวแน่เลย เรียนช้ากว่าเพื่อน ติดหลายตัว แต่สุดท้ายก็ช่างมัน เราผ่านมาได้ตั้งเยอะ ต้องไปได้สิ"
คนที่ติดโปรต่ำ คือได้เกรดไม่ถึง 1.5 ในเทอมแรกของการเรียนจึงฮึดสู้มาจนได้เป็น 2 กว่าๆ ในปัจจุบัน
"ผมมันพวกดื้อ พ่อแม่เคยบอกไม่ไหวก็ให้ย้าย แต่ผมไม่เอา จะจบให้ดู"
"แล้วผมไม่เชื่อเรื่องทางตัน บางครั้งเราเห็นทางตันแล้วก็จริง แต่ต้องเดินให้ถึงก่อน แล้วสุดท้ายก็จะมีรูเล็กๆ ให้เราไป"
ที่มา : นสพ.มติชน