ไม่รู้...ตัวเอง...เพศอะไร ?
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
มนุษย์ส่วนใหญ่เกิดมามีอวัยวะเพศเพียงหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ใช่อวัยวะเพศชายก็เป็นอวัยวะเพศหญิง แต่อัตลักษณ์ทางเพศ บทบาทการแสดงออกทางเพศนั้นมีหลากหลาย แม้แต่คนที่ชัดเจนว่าเป็นชาย-หญิงก็มีระดับความเป็นชาย-หญิงที่มากน้อยไม่เท่ากัน เปรียบเหมือนสีแต่ละสีก็มีหลายเฉด เข้มอ่อนต่างกันไป
การที่คนส่วนใหญ่ของโลกนี้เป็นชาย-หญิง สร้างความเข้าใจผิด ๆ จนฝังลึกเป็นทัศนคติว่าคนที่เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากชาย-หญิงตามมาตรฐานของคนส่วนใหญ่คือคนผิดปกติ ทั้งที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นอะไรก็ได้เท่าที่ใจต้องการ
อาจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการวิจัยโดยสำรวจความหลากหลายทางเพศของเด็กมัธยม 2,700 คน จากโรงเรียนมัธยม 5 แห่งในกรุงเทพฯ พบว่าเด็กตอบว่าตัวเองมีความหลากหลายทางเพศร้อยละ 11 ซึ่งในร้อยละ 11 นั้นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดคือกลุ่มที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเพศไหน และจากการสำรวจพบว่าการยอมรับของครอบครัวมีบทบาทสำคัญและส่งผลกระทบต่อเด็กมาก เด็กที่พ่อแม่ยอมรับมีผลการเรียนดีกว่า มีความสุขมากกว่า มีภาวะซึมเศร้าน้อยกว่า มีความคิดฆ่าตัวตายน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ "พ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนหลากหลายทางเพศมักจะมาหาหมอด้วยคำขอให้หมอช่วยเปลี่ยนลูกให้กลับไปเป็นตามเพศสภาพเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก สิ่งที่เปลี่ยนได้คือบทบาททางเพศ (Gender Role) แต่ไม่สามารถเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ได้ เวลาที่พ่อแม่พาลูกมาปรึกษา หมอไม่ค่อยได้ช่วยอะไรเด็ก ช่วยแค่ประเมินว่าเด็กมีปัญหาหรือไม่ แต่คนที่หมอช่วยคือ
พ่อแม่ช่วยดูแลรับฟังการปรับทุกข์ที่มาจากความไม่เข้าใจ หมอต้องพยายามทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าการเป็นคนหลากหลายทางเพศไม่ได้แปลว่าเป็นโรคหรือมีปัญหา
ณ ปัจจุบันสมาคมจิตแพทย์อเมริกา และสมาคมเวชศาสตร์วัยรุ่นสหรัฐอเมริกา สรุปแล้วว่า การพยายามทำให้เด็กกลับไปเป็นเพศเดิม (Retransition) ไม่เป็นผลดีต่อเด็กและเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจ นำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ"
อ.พญ.จิราภรณ์กล่าวอีกว่า ในสังคมไทยมีการนิยามคำหลายคำเพื่อใช้กับคนที่ไม่ใช่ชาย-หญิงตามมาตรฐานของสังคม ที่นิยมใช้มากที่สุดคือคำว่า "เบี่ยงเบนทางเพศ" ซึ่งเป็นคำที่ไม่ควรใช้เพราะเป็นคำที่แปลว่าผิดไปจากปกติ ซึ่งเป็นการนิยามแบบตีตราที่ไม่ถูกต้อง เพราะความหลากหลายไม่ได้แปลว่าผิดปกติ เช่น คนถนัดขวากับคนถนัดซ้าย ถึงแม้ประชากรส่วนใหญ่ในโลกถนัดขวา แต่ไม่ได้หมายความว่าคนถนัดซ้ายผิดปกติ
อีกคำหนึ่งที่ใช้กันมากคือคำว่า "เพศทางเลือก" ซึ่งเป็นคำที่ไม่ควรใช้เช่นกัน เพราะเป็นการสื่อว่าเพศเป็นสิ่งที่เลือกได้ สร้างความเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่เด็กเลือกได้แต่ทำไมไม่เลือก แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครเลือกได้ การจะเป็นเพศไหนมันเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าสังเกตที่ตัวเราเองจะรู้ว่าไม่มีวันที่เราตั้งใจว่าวันนี้จะเป็นชาย วันนี้จะเป็นหญิง เราเป็นอย่างนี้มาเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติ ไม่มีใครเลือกสิ่งที่เป็นได้ เลือกได้แค่สิ่งที่แสดงออก ฉะนั้นคำที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนกลุ่มที่ไม่ใช่ชาย-หญิง ในมาตรฐานของสังคมก็คือคำว่า "หลากหลายทางเพศ"
อาจารย์แพทย์หญิงนิดา ลิ้มสุวรรณ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พูดไปในทางเดียวกันว่า โดยทั่วไปอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์พัฒนามาตั้งแต่ 2-3 ปีแรก คนส่วนใหญ่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับอวัยวะเพศ (Biological Sex) และจะคงที่อยู่อย่างนั้น แต่ก็ไม่เสมอไปในทุกคน
ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าว่าเด็กจะโตไปเป็นเพศอะไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่เตือนว่าเป็นแนวโน้มเสี่ยง คืออาการที่เด็กไม่พอใจสิ่งที่ตัวเองมี ไม่พอใจเพศที่ตัวเองเป็นมาก ๆ บางคนเฉือนอวัยวะเพศตัวเองทิ้ง รู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา เราเกิดมาในร่างกายที่ผิด เด็กที่มีระดับความไม่พอใจที่รุนแรงมีแนวโน้มว่าจะคงความไม่เป็นสุขในเพศของตัวเองไปจนถึงวัยรุ่น และจะพัฒนาไปเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
อาจารย์หมอนิดาบอกว่า เวลาที่ผู้ปกครองมาปรึกษา มักจะมาพร้อมกับคำถามว่าเป็นเพราะอะไร และตัดสินถูก-ผิดมาแล้ว ประเด็นคือหมอจะทำอย่างไรให้คนที่เดินเข้ามาด้วย
ความกังวลคลายกังวล ทำยังไงให้คนที่ตัดสินถูก-ผิด เลิกตัดสิน, ทำยังไงให้เขาเลิกมองว่าโลกนี้ต้องมีแค่ผู้ชาย-ผู้หญิง ให้เขามองว่ามันมีความหลากหลาย, ทำอย่างไรให้เขายอมรับและเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งให้เขาเปิดใจว่าลูกเขาเป็นอะไรก็ได้ ถ้าไม่ทำอะไรเสียหายผิดศีลธรรมก็พอ "การมองแค่ประเด็นทางเพศเหมือนการจับจุดเดียว ถ้าชีวิตเปรียบเหมือนกระดาษ เรื่องเพศเป็นจุดหนึ่งบนกระดาษ
แล้วผู้ปกครองไปมองแต่จุดนั้นโดยไม่ได้มองว่าในกระดาษแผ่นนั้นยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ดีและสวยงาม เขาอาจจะเป็นคนฉลาด, เรียนเก่ง, มีความสามารถ และยังมีเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตให้สนใจการเลี้ยงเด็กเหมือนการปลูกต้นไม้ เราไม่รู้ว่ามันจะให้ดอกผลหรือไม่ ไม่รู้ว่าต้นไม้ต้นนี้จะพัฒนากลายไปเป็นต้นอะไร หน้าที่เราไม่ใช่หวังผล แต่เรามีหน้าที่แค่รดน้ำ พรวนดิน ดูแลให้มันเจริญงอกงาม การเลี้ยงคน หน้าที่เราคือดูแลเขาให้ดีที่สุดให้เขาพัฒนาเต็มที่เท่าที่ศักยภาพของเขาจะนำพาไปได้"อ.พญ.นิดากล่าวอีกว่า ในกรณีเด็กวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการการรักษา ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันได้ ต้องดูไปแต่ละเคส ข้อแนะนำสำหรับการจะเปลี่ยนแปลงเด็ก อย่าทำด้วยวิธีการสุดโต่ง หรือตรงข้ามอย่างสุดขั้ว ให้เลือกวิธีที่อยู่ตรงกลางระหว่างชาย-หญิง ถ้าเด็กผู้ชายชอบงานฝีมืออย่าบังคับให้เขาไปเล่นเตะฟุตบอล อาจจะให้ปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำได้ทั้งชายทั้งหญิง
เนื่องจากเห็นว่าเด็กวัยรุ่นได้รับผลกระทบจากการที่ครอบครัวและสังคมไม่ยอมรับ ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพียงลำพัง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงจะเปิดให้บริการคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น (Gender Variation Clinic หรือ Gen-V Clinic) เพื่อดูแลวัยรุ่นอายุ 10-24 ปีที่มีความหลากหลายทางเพศแบบองค์รวมทุกด้าน โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ คลินิกนี้จะเปิดให้บริการในเดือนกันยายนนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.08-7053-5500 หรือเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/teenrama.teen