2นักดาราศาสตร์ไทยยอดเจ๋งร่วมนาซาค้นพบการเกิดดาวเคราะห์คล้ายโลก

2นักดาราศาสตร์ไทยยอดเจ๋งร่วมนาซาค้นพบการเกิดดาวเคราะห์คล้ายโลก

2นักดาราศาสตร์ไทยยอดเจ๋งร่วมนาซาค้นพบการเกิดดาวเคราะห์คล้ายโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 2 นักดาราศาสตร์ไทยร่วมนาซ่าค้นพบการเกิดดาวเคราะห์คล้ายโลกในระบบดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ เก็บข้อมูลวิจัยร่วมกับกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ของนาซา ชี้เป็นการค้นพบครั้งแรกของโลกที่จะช่วยยืนยันทฤษฎีการเกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เล็งขยายเครือข่ายวางโครงสร้างดาราศาสตร์เพิ่มที่จีนและออสเตรเลีย หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงจากชิลี

นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หนึ่งในทีมวิจัยเปิดเผยว่า วันที่ 29 สิงหาคม วารสาร Science ได้ตีพิมพ์บทความ ในวงการดาราศาสตร์ เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ เป็นกล้องอินฟาเรดของนาซาพบการระเบิดของฝุ่นรอบ NGC2547-ID8 เป็นดาวฤกษ์อายุน้อยคล้ายดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะอื่น ที่มีอายุเพียง 35 ล้านปี เป็นไปได้ว่าจะเกิดจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่รอบดาวฤกษ์อายุน้อยดังกล่าว การชนกันของดาวเคราะห์น้อยลักษณะนี้นำไปสู่การก่อตัวของดาวเคราะห์ดวงใหม่เช่นเดียวกับการเกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราในอดีต

ทีมวิจัยประกอบด้วยฮวนเม็ง/เคท ซู และ จอร์จ ริกี จากมหาวิทยาลัยอริโซนา เดวิด สตีเฟนสัน จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ปีเตอร์ ฟาลฟ์สัน จากนาซา แครี่ ลิส จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แดเนียล ไรชาร์ต จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ณ แชพเพิลฮิลล์ และ 2 นักดาราศาสตร์ไทย ดร.วิภู รุโจปการ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ



นายศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักดาราศาสตร์ไทยมีส่วนร่วมในการค้นพบครั้งนี้โดยใช้กล้อง PROMPT ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นเก็บข้อมูลกราฟแสงของดาวฤกษ์เพื่อยืนยันการค้นพบดังกล่าวกล้องPROMPTเป็นกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสดร. กับ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ณ แชพเพิลฮิลล์ สหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ ณ หอดูดาวอินเตอร์อเมริกัน เซอร์โร โทโลโล (Cerro Tololo Inter-American Observatory : CTIO) สาธารณรัฐชิลี

ผลการวิจัยพบว่ามีการระเบิดขึ้นจริงบริเวณรอบ ๆ ดาวฤกษ์ดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ตรวจพบการระเบิดในลักษณะเช่นนี้คาดว่าน่าจะเกิดการชนกันของดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดังกล่าวสนับสนุนทฤษฎีการเกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราในอดีตเกิดจากการชนกันของของดาวเคราะห์น้อยจนนำไปสู่การก่อตัวเป็นดาวเคราะห์หินแข็งเช่นเดียวกับดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร หรือโลกของเรา เป็นต้น

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ผลงานการค้นพบดังกล่าวสร้างความตื่นตะลึงในหมู่นักดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก เป็นข้อมูลการค้นพบใหม่ทางดาราศาสตร์อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขปัญหาด้านทฤษฎีการเกิดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีส่วนร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากจะนำมาซึ่งผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวงการดาราศาสตร์แล้วยังนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านดาราศาสตร์กับนานาประเทศ

ทั้งนี้ สดร. ยังมุ่งมั่นที่จะผลิตนักวิจัยและผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ ไปกับการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์เพื่อใช้ศึกษาค้นคว้าวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติซีกฟ้าใต้ ณ สาธารณรัฐชิลีแล้ว สดร. ยังมีแผนการดำเนินงานในอนาคตที่จะขยายเครือข่ายเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่ประเทศจีนและออสเตรเลียในเวลาอันใกล้นี้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook