′โฮเวอร์ไบค์′ อากาศยานส่วนตัวในอนาคต?
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ยานโฮเวอร์ไบค์ขับเคลื่อนโดยหุ่นยนต์ที่เห็นอยู่ในภาพ ไม่ได้เป็นภาพจากภาพยนตร์ประเภทไซ-ไฟ อย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นผลงานของ "มอลลอย แอโรนอติค" บริษัทเริ่มต้นกิจการ (สตาร์ตอัพ) จากออสเตรเลีย ที่ตอนนี้มาปักหลักเปิดกิจการเป็นงานเป็นการอยู่ในประเทศอังกฤษ
ยานโฮเวอร์ไบค์ ที่เห็นในภาพเป็นแบบจำลองขนาด 1 ใน 3 ของ โฮเวอร์ไบค์ ของจริงที่บริษัทตั้งเป้าจะผลิตขึ้นจำหน่ายในอนาคต เป็น "โมเดล" ที่ถูกจัดส่งมอบให้เป็น "ของขวัญ" แก่บรรดาผู้ที่สนใจจ่ายเงินลงทุนให้กับโปรเจ็กต์นี้ของมอลลอย แอโรนอติค ผ่านทางคิกสตาร์ตเตอร์ เป็นจำนวนเกินกว่า 1,000 ดอลลาร์ขึ้นไป (จนถึง 31 สิงหาคมที่ผ่านมา) ที่ช่วยให้บริษัทระดมทุนได้เกินเป้าแล้วด้วย ตัวยานมีขนาดยาวไม่ถึง 4 ฟุต ใช้ใบพัด 4 ตัวสำหรับยกตัวลอยอยู่ในอากาศ ส่วนหุ่นยนต์สีขาวนั้น พิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ น้ำหนักรวมกันราว 7 กิโลกรัมเท่านั้นเอง ผู้ผลิตเรียกยานย่อส่วนนี้ว่า "โดรน 3"
เจ้า "โดรน 3" ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจาก 2 รุ่นแรก ที่เดิมใช้ใบพัดยกตัวเพียงแค่ 2 ใบ พัดจนกลายมาเป็น "ควอดคอปเตอร์" อย่างที่เห็นในภาพ และน่าจะเป็นดีไซน์สุดท้ายสำหรับโปรเจ็กต์การสร้าง "โฮเวอร์ไบค์" ที่ใช้คนบังคับได้ในอนาคต ตัวโดรน 3 ใช้โรเตอร์ 4 ตัวที่โอเวอร์แล็บกันบางส่วนในการขับเคลื่อนทำให้มีความนิ่งเมื่ออยู่กลางอากาศมากกว่ารุ่นเดิม เจ้าตัวนี้ใช้งานโดยการบังคับจากระยะไกล ซึ่งจะแตกต่างจากโฮเวอร์ไบค์จริงที่จะสามารถใช้งานได้ 2 แบบ คือทั้งที่บังคับโดยนักบินและไม่ใช้นักบิน มันถูกออกแบบมาให้พกพาสะดวกสบายด้วยการพับเก็บยัดลงเป้สะพายหลังที่จัดทำมาให้เป็นพิเศษได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
ประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้อยู่ที่แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา"โฮเวอร์ไบค์"ของมอลลอย แอโรนอติค เพราะการผลิตและจำหน่าย โดรน 3 เป็นแค่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ระยะแรกของบริษัทเท่านั้น เป้าหมายของบริษัทก็คือการจัดสร้าง โฮเวอร์ไบค์สำหรับใช้เป็นยานพาหนะส่วนบุคคล ไปไหนมาไหนกลางอากาศได้ แบบเดียวกับที่เราใช้เครื่องบินโดยสารและเฮลิคอปเตอร์ โดยอุปมาอุปไมยว่ามันคือ จักรยานยนต์ บนท้องฟ้าที่เหมือนๆ กับเราใช้จักรยานยนต์ควบคู่ไปกับรถยนต์และรถโดยสารประจำทางบนท้องถนนทุกวันนั่นเอง
ด้วยความที่มอลลอยแอโรนอติคถือกำเนิดขึ้นในออสเตรเลียวิสัยทัศน์ของบริษัทก่อนหน้านี้จึงเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนที่นั่นไม่น้อย กล่าวคือ บริษัทเชื่อว่าโฮเวอร์ไบค์ หากพัฒนาขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จ จะช่วยให้ผู้ชายเพียงคนเดียวสามารถใช้งานมันดูแลไร่และฝูงปศุสัตว์ในพื้นที่กว้างขวางได้สบายๆ นอกเหนือจากการใช้งานเพื่อการสำรวจพื้นที่ได้อีกด้วย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เหมือนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งสิ้นเปลืองมาก แล้วก็ไม่ต้องหวนกลับไปนั่งหลังขดหลังแข็งบนอานม้าเหมือนในอดีตอีกด้วย
แนวคิดเรื่องการใช้โฮเวอร์ไบค์เป็นอากาศยานส่วนบุคคลในอนาคตน่าสนใจและหากทำงานได้จริงอย่างที่อวดสรรพคุณไว้ก็น่าจะใช้งานได้ง่ายกว่าและปลอดภัยกว่าเฮลิคอปเตอร์มาก
แต่ท้องฟ้าก็จะแน่นขนัดขึ้นอีกนิดหน่อยเท่านั้น
ที่มา : นสพ.มติชน