′นอนน้อย′ ทำสมองฝ่อ จริงหรือ?!
นอนน้อยทำสมองฝ่อ?
วารสารสถาบันประสาทวิทยาอเมริกันตีพิมพ์ผลการศึกษาระบุว่า ปัญหาการนอนไม่หลับเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการเกิดอาการสมองฝ่อ หรือปริมาณเนื้อสมองลดน้อยลง หลังทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ วิจัยพบการเชื่อมโยงกันดังกล่าว
กลุ่มวิจัยทดลองโดยนำกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ 147 คน อายุ 20 ปี และ 84 ปี มาเข้ารับการตรวจสมองผ่านเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ 2 ครั้ง ซึ่งการสแกนสมองแต่ละครั้งจะมีความห่างเฉลี่ย 3.5 ปี
จากนั้นนักวิจัยได้ให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอน เช่น นอนนานเท่าไร, ใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะนอนหลับ, หรือจำเป็นต้องใช้ยาช่วยให้นอนหลับหรือไม่
หลังกระบวนการค้นคว้าพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 จากจำนวนทั้งหมดมีคุณภาพการนอนหลับย่ำแย่ และยังพบอีกว่า บุคคลที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ มีขนาดสมองหดเล็กลงเป็นวงกว้างในหลายส่วน เช่น สมองบริเวณหน้าผาก, สมองบริเวณขมับ, หรือเนื้อสมองตรงผนังหุ้ม ซึ่งกรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม แคลร์ อี. แซ็กตัน จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าคุณภาพของการนอนหลับ เป็นสาเหตุ หรือเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองกันแน่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อเนื่องต่อไปในอนาคต เพราะหากการศึกษาในอนาคตชี้ว่าการปรับปรุงคุณภาพการนอนช่วยลดความเสี่ยงอาการสมองฝ่อ
ดังนั้น การแก้ไขพฤติกรรมการนอนซึ่งมีวิธีรักษาอยู่หลายหนทางก็อาจเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยรักษาสุขภาพของสมองได้นั่นเอง