โพลชี้ควรมีบทลงโทษทั้งผู้รับและผู้ว่าจ้างทำการบ้าน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการให้การบ้านของครูอาจารย์ในปัจจุบันและความคิดเห็นต่อการรับจ้างทำการบ้าน โดยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,105 คน พบว่า ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการทำการบ้านของบุตรหลาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 44.07 ระบุว่าตั้งแต่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา ตนเองเคยเห็นบุตรหลานนำการบ้านที่ครูอาจารย์สั่งกลับมาทำที่บ้านหลังกลับจากสถานศึกษาบ้างเป็นบางวัน
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.48 ระบุว่าเห็นเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างถึงประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.45 ระบุว่าไม่เคยเห็นเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.18 ยอมรับว่าตนเองเคยดุด่าว่ากล่าวตักเตือนเรื่องที่บุตรหลานไม่ทำการบ้าน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.82 ไม่เคย
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 63.08 มีความคิดเห็นว่าการให้การบ้านกับนักเรียนนักศึกษาของครูอาจารย์ยังคงมีความจำเป็นในสังคมปัจจุบัน และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนนักศึกษาในสมัยปัจจุบันกับสมัยที่ตนเองเป็นนักเรียนนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.02 ระบุว่าในสมัยที่ตนเองเป็นนักเรียนนักศึกษาต้องทำการบ้านในแต่ละวันมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.33 ระบุว่าทำในปริมาณเท่า ๆ กัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.88 ระบุว่านักเรียนนักศึกษาในสมัยปัจจุบันทำมากกว่า
ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.43 และร้อยละ 65.07 มีความคิดเห็นว่าการให้การบ้านของครูอาจารย์มีส่วนช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในการเรียนวิชานั้น ๆ ของนักเรียนนักศึกษาได้มากขึ้น และมีส่วนทำให้นักเรียนนักศึกษาสามารถจดจำเนื้อหาบทเรียนที่เรียนไปได้ดีขึ้นตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 34.93 มีความคิดเห็นว่าควรมีการลดปริมาณการให้การบ้านกับนักเรียนนักศึกษาไปประมาณหนึ่งในสี่จากปริมาณที่ให้อยู่ในปัจจุบัน และกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.07 มีความคิดเห็นว่าควรลดไปประมาณหนึ่งในสาม อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.14 มีความคิดเห็นว่าไม่ควรลดเลย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.86 มีความคิดเห็นว่าควรลดไปประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับจ้างทำการบ้าน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.68 เคยทราบมาก่อนว่าในปัจจุบันมีโฆษณาให้บริการรับจ้างทำการบ้านผ่านทางเว็บไซด์/เครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.32 ไม่เคยทราบมาก่อน โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79.82 เห็นด้วยว่าการมีบริการรับจ้างทำการบ้านให้กับนักเรียนนักศึกษาถือเป็นอันตรายกับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 79.19 เห็นด้วยที่จะมีการดำเนินคดี/เอาผิดทางกฎหมายกับผู้ที่โฆษณาให้บริการรับจ้างทำการบ้านผ่านเว็บไซด์/เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.38 มีความคิดเห็นว่าการลดปริมาณการให้การบ้านกับนักเรียนนักศึกษาจะไม่ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาใช้บริการรับจ้างทำการบ้านน้อยลง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.77 ระบุว่าส่งผล
เมื่อเปรียบเทียบวิธีการช่วยลดการจ้างทำการบ้านระหว่างการลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่ไปใช้บริการรับจ้างทำการบ้านกับการปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนนักศึกษาทำการบ้านด้วยตนเองโดยไม่ต้องไปจ้างใคร กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 47.69 มีความคิดเห็นว่าควรทำทั้งสองวิธีควบคู่กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.42 มีความคิดเห็นว่าควรลงโทษ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23.89 มีความคิดเห็นว่าควรปลูกจิตสำนึก