ตกคณิต...เพราะฮอร์โมนต่ำ??
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คอลัมน์ รู้แล้วบอกต่อ
หากการทำโจทย์คณิตศาสตร์สำหรับคุณ เป็นฝันร้าย ได้คะแนนวิชาคิดคำนวณต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ถามว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบอาจเพราะไม่ได้ตั้งใจเรียน หรือไม่ เพราะไม่ชอบวิชานี้
ล่าสุด นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวียู ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เสนอคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้เพิ่มอีก 1 คำตอบ ถึงสาเหตุที่ทำให้มีความสามารถในการคิดคำนวณด้อยกว่าคนทั่วไป คำตอบที่ว่าก็คือ "ระดับฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน" ระหว่างที่คุณอยู่ในครรภ์แม่นั่นเอง
ผลการวิจัยชิ้นใหม่ พบว่าเด็กชายและเด็กหญิงที่แม่มีระดับ "ฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน" ขณะตั้งครรภ์ต่ำ เด็กจะมีโอกาสทำคะแนนคณิตศาสตร์ในช่วงต้นของวัยเรียนได้ไม่ดีถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กในครรภ์ที่มีฮอร์โมนดังกล่าวในระดับปกติ
ฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน ซึ่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างอยู่ในครรภ์เป็นฮอร์โมนสำคัญต่อพัฒนาการของสมอง แต่แม่ตั้งครรภ์จำนวนมากมีฮอร์โมนชนิดนี้ไม่เพียงพอ
ดร.มาร์ติจน์ ฟินเกน ผู้ทำการวิจัย จึงทำการศึกษาเด็กจำนวน 1,200 คน นับตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์จนกระทั่งเด็กเข้าเรียน โดยวัดระดับฮอร์โมนไทรอกซ์ซินเป็นเวลา 12 สัปดาห์ในครรภ์ และเปรียบเทียบกับผลการเรียนคณิตศาสตร์และผลการเรียนภาษาของเด็กเมื่ออายุได้ 5 ขวบ
ผลที่ได้ก็คือเด็กที่มีระดับ "ฮอร์โมนไทรอกซ์ซิน" ในระดับที่ต่ำที่สุดระหว่างอยู่ในครรภ์ มีโอกาสถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่จะมีระดับคะแนนอยู่ในครึ่งล่างของตารางคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ และผลที่ได้นี้ ยังเป็นไปตามสมมติฐานเมื่อนำตัวแปรอื่นๆ มาพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานครอบครัว รวมถึงสุขภาพขณะคลอด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าแปลกใจว่าระดับฮอร์โมนไทรอกซ์ซินนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อระดับคะแนนด้านคำศัพท์หรือความสามารถในการใช้ภาษาแต่อย่างใด ซึ่ง ดร.ฟินเกนระบุว่า อาจมีสาเหตุมาจากความสามารถในการใช้ภาษานั้น เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเสียเป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะยังคงติดตามกลุ่มตัวอย่างต่อไปเพื่อดูพัฒนาการเมื่อเข้าสู่กระบวนการศึกษา เพื่อตอบคำถามที่ว่า แนวโน้มความสามารถด้านคณิตศาสตร์นั้น จะส่งผลไปสู่ช่วงของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่หรือไม่
ที่มา : นสพ.มติชน