เครียด! การศึกษาไทยถอยหลัง หวั่นแพ้ชาติอาเซียน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ความแตกต่างระหว่างระบบการศึกษาไทยและประเทศอื่น โดยเฉพาะชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ด้วยการยืนยันจากคะแนนของการประเมินผลทักษะของนักเรียนในระดับนานาชาติ (PISA) ซึ่งจะวัดความสามารถของนักเรียนในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ยทั้งประเทศของไทยต่ำกว่ามาตรฐาน OECD อย่างมากในทุกๆ ด้าน
ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความน่ากังวลเกี่ยวกับจากการศึกษาไทยตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งไทยได้คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบ PISA อยู่เพียงอันดับที่ 3 ของอาเซียนเท่านั้น รองจากสิงคโปร์และเวียดนาม
โดยสิ่งที่น่ากังวลที่สุดไม่เพียงแต่ในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศก็น่ากังวลไม่แพ้กัน ผศ.ดร.การดี ยกตัวอย่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการเรียนการสอนทั้งภาคไทยและภาคอินเตอร์ จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมในห้องเรียน และแรงจูงใจในการเรียน
แม้คะแนนสอบวัดผลประจำภาคเรียนของเด็กไทยจะอยู่ในระดับที่ดี แต่หากพูดถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและในอนาคต เชื่อว่าเด็กไทยจะเสียเปรียบในเรื่องนี้มาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง
ขณะที่นโยบายการศึกษาของสิงคโปร์ หนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียนที่น่าจับตา โดยปัจจุบันสิงคโปร์จะเน้นการเรียนการสอนแบบ "Teach Less Learn More" หรือ TLLM คือ "สอนให้น้อยลงแต่ให้เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้น" โดยเป็นการเร่งพัฒนาให้กับเด็กรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ และมีทักษะการใช้ชีวิต
ทั้งนี้ วิสัยทัศน์และหลักสุตรการเรียนการสอนของไทยเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด เพราะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในประเทศให้ดีได้ ผู้พัฒนาต้องมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านอย่างถ่องแท้ นอกเหนือจากการสอนให้เด็กไทยเป็นคนที่ดีของสังคมแล้ว การสอนให้เป็นคนเก่งที่สามารถเทียบเคียงในระดับนานาชาติได้นั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน