มทร.ธัญบุรี สร้างระบบควบคุมรถวีลแชร์เพื่อผู้พิการ
ผศ.เมธา ศิริกูล และอาจารย์ปองพล นิลพฤกษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรีพร้อมด้วย ADHYA PRANATA SAKTI , DENY RAHMALIANTO และ FERNANDA PANCA PRIMA นักศึกษาจาก Faculty of Industrial Technology, Universitas Islam Indonesia (UII) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งร่วมฝึกประสบการณ์วิชาชีพ คิดค้นระบบควบคุมรถวีลแชร์เพื่อผู้พิการ
ผศ.เมธา ศิริกูล เปิดเผยว่า รถเข็นสำหรับผู้พิการ (Wheelchair) เป็นอุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนที่สำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ มีลักษณะคล้ายเก้าอี้แต่มีล้อ ผู้นั่งสามารถหมุนหรือบังคับล้อให้ขับเคลื่อนได้เองหรือบางครั้งอาจให้ผู้อื่นช่วยเข็นได้ ปัจจุบันรถเข็นในท้องตลาดทั่วไป มีทั้งแบบใช้แขนของมนุษย์ในการเคลื่อนที่ รถเข็นระบบไฟฟ้า และรถเข็นที่ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วย Joystick ทีมผู้คิดค้นจึงได้ต่อยอดและพัฒนารถเข็นผู้พิการขึ้นใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า Smart Wheelchair โดยประยุกต์ใช้แอพพลิเคชั่น (Application) บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) มาควบคุมการเคลื่อนที่ของ Wheelchair ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 3 ระบบการใช้งาน เพื่อให้ผู้พิการสามารถเลือกใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
"จุดเด่นของ Smart Wheelchair นี้ คือ ผู้พิการหรือผู้ใช้งานสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของ Wheelchair ได้ทั้งหมด 3 ระบบการใช้งาน แบบแรก ควบคุมโดยปุ่มควบคุมบน Smart Phone แบบระบบสัมผัส (Touchscreen) บนหน้าจอ แบบที่สอง ควบคุมโดยการเคลื่อนไหว หรือกำหนดความเอียงของ Smart Phone ซึ่งประยุกต์ใช้จาก Accelerometer โดยเอียงตามทิศทางที่ต้องการ เช่น เอียงซ้าย ขวา หน้า หลัง และแบบที่สาม ควบคุมหรือสั่งการด้วยเสียงผ่านทาง Smart Phone โดยนำระบบรู้จำเสียงพูด (Voice Recognition) มาใช้ในการควบคุมให้รถเคลื่อนที่ในทิศทางตามที่ต้องการ ด้วยการออกคำสั่งเสียงเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Forward , Right ,Left , Stop , Reverse , Increase , Decrease และ Finish ซึ่งทั้ง 3 แบบนี้ ผู้พิการสามารถเลือกให้เหมาะกับสภาพร่างกายได้" ทีมผู้คิดค้น กล่าว
ในส่วนการทำงาน ทีมผู้คิดค้น กล่าวว่า "Smart Wheelchair แบ่งการทำงาน เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ชุดอุปกรณ์ (Hardware) ซึ่งประกอบด้วย รถเข็นวีลแชร์แบบทั่วไป (2 ล้อ) มอเตอร์ควบคุมการเคลื่อนที่ บอร์ดควบคุมการทำงานของมอเตอร์ และ ส่วนที่สอง เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยทั้งสองส่วนการทำงานนี้ จะเชื่อมต่อผ่านทาง Bluetooth สำหรับความเร็วในการเคลื่อนที่จะมีความเร็วเทียบเท่ากับแรงมนุษย์ที่เข็นปกติ แต่ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มหรือลดระดับความเร็วได้ถึง 3 ระดับ (ต่ำ - กลาง - สูง) และจากการทดสอบการทำงานของเครื่องนี้ ทุกส่วนการใช้งานมีความถูกต้องแม่นยำดีมาก และมีความถูกต้องมากกว่า 80 % สำหรับการสั่งการด้วยเสียง และมีต้นทุนการผลิตทั้งหมด โดยไม่รวม Smart Device อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท"
"การพัฒนาต่อไปจากนี้ จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้รองรับระบบปฏิบัติการ iOS และจะเพิ่มการควบคุมหรือสั่งการด้วยเสียงให้มีความถูกต้องและมีหลากหลายภาษามากขึ้น โดยเฉพาะภาษาไทย ส่วนประโยชน์จากนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้สั่งการทำงานของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านด้วยคำสั่งเสียง หรือที่เรียกว่า Smart Home เช่น การสั่งเปิดและปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ทั้งยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อช่วยในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ด้วยคำสั่งเสียงได้อีกด้วย" ผศ.เมธา ศิริกูล กล่าวทิ้งท้าย
นวัตกรรมชิ้นนี้ ถือว่าช่วยอำนวยความสะดวกและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างปกติสุขและเท่าเทียมกับคนทั่วไป และจุดประกายให้หลายคนเห็นความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมเพื่อคนพิการมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02 549 4194 หรือ 086 303 8568
[Advertorial]