ก.เอ๋ย ก.ไก่ ซ่อนอะไรใน แบบเรียน

ก.เอ๋ย ก.ไก่ ซ่อนอะไรใน แบบเรียน

ก.เอ๋ย ก.ไก่ ซ่อนอะไรใน แบบเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"หยิบหนังสือของเราและปากกาของเราขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ทรงอานุภาพกว่าอาวุธ เด็กคนหนึ่ง ครูคนหนึ่ง หนังสือหนึ่งเล่ม ปากกาหนึ่งด้าม สามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้" คือคำที่ "มาลาลา ยูซัฟไซ" เด็กหญิงอายุ 17 ปีชาวปากีสถาน ได้กล่าวต่อหน้าสหประชาชาติเมื่อเธออายุครบ 16 ปีมาลาลา คือเด็กที่ลุกขึ้นมาต่อต้านตาลิบันที่ปิดกั้นการศึกษาในปากีสถาน เพราะต้องการควบคุมให้ผู้อยู่ใต้การปกครองไม่รู้หนังสือ

มาลาลาปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกตอนที่เธออายุเพียง 11 ขวบเท่านั้น โดยครั้งนั้น นายไซอุดดิน บิดาของเธอได้พาลูกสาวไปเข้าร่วมงานชุมนุมต่อต้านการโจมตีโรงเรียนสตรีของตาลิบัน

ในครั้งนั้น มาลาลาได้กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ "ตาลิบันอาจหาญอย่างไรในการระงับสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาของฉัน" (How Dare the Taliban Take Away My Basic Right to an Education) จากนั้นเธอเริ่มมีชื่อเสียงจากการเขียนบล็อกให้ BBC ในชื่อ "กุล มาไค (Gul Makai)" และปรากฏตัวตามสื่อระดับนานาชาติ

มาลาลาเป็นเด็กผู้หญิงที่อยากเรียนหนังสือ อยากให้ทุกคนได้เรียนหนังสือ อยากให้สังคมมีเสรีภาพ อยากเห็นความเท่าเทียม อยากเห็นทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เธอเรียกร้อง เธอพูดในสิ่งที่เธอคิด... จนวันหนึ่งตาลิบันบุกถึงรถรับ-ส่งนักเรียน ในขณะที่เธอกำลังกลับจากโรงเรียนในวันนั้น มาลาลาในวัย 15 ปี โดนปืนโคลต์ .45 ยิงเข้าที่ศีรษะ

ถึงกระนั้นเธอก็ยังไม่อ่อนข้อ ไม่หยุดต่อสู้เพื่ออุดมคติของตนเองล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ชื่อของ "มาลาลา ยูซัฟไซ" เป็นข่าวดังไปทั่วโลกอีกครั้ง เพราะเธอได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ท่ามกลางความยินดีและเสียงชื่นชมเรื่องราวของมาลาลาอาจจะดูไกลตัว หากเรามองว่าเธอเป็นชาวต่างชาติ แต่หากมองประเด็นที่มาลาลาเรียกร้องคือสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาและความเสมอภาคในสังคม

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลใครเลย มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความเสมอภาคและต้องการการศึกษา เพื่อจะพัฒนาและยกระดับชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น ในประเทศไทยของเรามีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีตำราเรียนที่รัฐจัดให้ประชาชน เราไม่โดนปิดกั้นการศึกษา แต่เราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า เราไม่โดนปิดกั้นความรู้และเรามีอิสระในการรับรู้ อีกทั้งเรายังไม่ตื่นตัวที่จะขวนขวายหาความรู้ ทั้ง ๆ ที่เรามีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากกว่าหลาย ๆ ประเทศ

หากย้อนกลับไปมองอดีตอย่างพินิจพิเคราะห์ เราจะเห็นว่าแบบเรียนของไทยเรามีปัญหาอย่างไรบ้าง มีอะไรหรือไม่ที่แบบเรียนยังให้เราไม่มากพอ และมีบางอย่างที่แบบเรียนตั้งใจ "ยัด" ใส่เรา แต่ในตอนเป็นเด็กเรายังไม่รู้จักตั้งคำถามกับมัน ดังที่ "ปราบดา หยุ่น" นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2545 กล่าวว่า ตอนที่เรียนเรายังเป็นเด็ก เราอาจจะยังไม่ได้วิเคราะห์มันละเอียดชัดเจนขนาดนั้น แต่คิดว่ารัฐพยายามจำลองประเทศให้เป็นชุมชนเล็ก ๆ ตัวละคร ครอบครัว

ในเรื่องจะแทนอุดมคติที่ชาติต้องการให้ประชาชนคิด หรือมีแนวโน้มที่จะไปทางนั้น มันมีส่วนปลูกฝังความเชื่อและวิธีคิดบางอย่าง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดเช่นกันกับ "จรัญ หอมเทียนทอง" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่กล่าวว่า แบบเรียนไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือการอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมืองตามอุดมคติของผู้นำในแต่ละยุค ผู้นำต้องการให้สังคมเป็นไปในทางไหนก็จะใส่ความคิดแบบนั้นลงไปในแบบเรียน ชาตินิยม คือสิ่งหนึ่งที่ตำราไทยปลูกฝังให้ประชาชนและเห็นผลเป็นที่สุด ภาพจำ-ทัศนคติที่คนไทยมองว่าเพื่อนบ้านคือศัตรู มองว่าเพื่อนบ้านด้อยกว่า ชาติไทยเหนือกว่า ล้วนแต่ได้รับการปลูกฝังมาจากแบบเรียนทั้งนั้น

หนังสือ "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" ของ สุเนตร ชุตินธรานนท์และคณะ ที่จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน ได้กล่าวไว้ว่า กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ของชาติไทย และภาพลักษณ์ของประเทศรอบข้างที่ถูกปรุงแต่งขึ้น จนเกิดเป็นทัศนคติที่เป็นปรปักษ์ สอดแทรกสำนึกความเป็นชาตินิยมเป็นแก่นหลักในการเสนอชีวประวัติของชาติ และขับเน้นภาพความเป็นศัตรูของเพื่อนบ้านกระบวนการนี้ถ่ายทอดส่งผ่านออกสู่สาธารณะ ซึ่งกิจกรรมที่เป็นระบบที่สุดคือการส่งผ่านทางการศึกษาในระบบ ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและแบบเรียน จนท้ายที่สุดก่อเกิดเป็นความทรงจำร่วมกัน และเป็น "ตำนานแห่งชาติ" ที่พร้อมจะถูกหยิบยืมไปเป็นมาตรฐานปรุงแต่งจินตนาการก่อเกิดเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์ ฯลฯ

หนังสือชาตินิยมในแบบเรียนไทยบอกว่า ปัญหาที่ไทยมีกับประเทศรอบข้างในปัจจุบันเป็นปัญหาใหม่และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จำเป็นต้องอาศัยการปรับโครงสร้างทางความรู้ใหม่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนโลกทัศน์ใหม่ ซึ่งจุดเริ่มต้นการปรับโครงสร้างทางความรู้ใหม่จำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด คือ การสำรวจสถานะขององค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้เข้าใจในข้อจำกัดและเพื่อความเป็นไปได้ในการแสวงหาหรือกำหนดทิศทางใหม่ให้แก่สังคมในการศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อนบ้านต่อไปในอนาคต

ส่วน จรัญ หอมเทียนทอง กล่าวว่า หนังสือเป็นตัวจะนำพาประเทศเราไปสู่ความสำเร็จ การอ่านเป็นการทลายกำแพงความโง่เขลา เกาหลีใช้เวลาสามสิบปีในการพัฒนาประเทศ ก้าวข้ามหลายประเทศไป เช่นกันกับแนวคิดของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 19 ที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 15-26 ตุลาคมนี้ ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยจะจัดงานขึ้นในแนวคิด "ก.เอ๋ย ก.ไก่ เรียนรู้อดีต มุ่งสู่อนาคต" เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษา นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯบอกว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการจัดงานในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังอ่อนไหว รัฐบาลกำลังจะปฏิรูปประเทศ การที่ประเทศไทยจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ก็เปรียบเหมือนการเริ่มเรียน ก.เอ๋ย ก.ไก่ และยังมีการจัดนิทรรศการ "ระลึกชาติในแบบเรียน" นำเสนอวิวัฒนาการของแบบเรียนไทยในอดีตถึงปัจจุบัน ที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาตลอด

"ก่อนจะเริ่มนับหนึ่งไปข้างหน้าเพื่อก่อความหวัง จะต้องแลไปข้างหลังเพื่อแก้ความผิดเสียก่อน กระทรวงศึกษาธิการควรส่งเจ้าหน้าที่มาดูงานนี้เยอะ ๆ เพราะในนิทรรศการระลึกชาติในแบบเรียน จะเน้นย้ำให้เห็นการสร้างแบบเรียนในอดีตที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จและล้มเหลวอย่างไร ผลของการสร้างแบบเรียนตอบโจทย์การเมืองในอดีตสามารถสร้างผลกระทบระยะยาวของประเทศได้อย่างไร นอกจากมาดูเพื่อรำลึกความหลังกับแบบเรียนในวัยเด็กของตัวเองแล้ว จะทำให้รู้จักตัวตนของเรามากขึ้น และจะเห็นความผิดพลาดในอดีตเพื่อจะรู้ว่าเราจะเดินกันไปทางไหน" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯกล่าว

สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวของมาลาลา สาวน้อยหัวใจใหญ่ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพคนล่าสุด พบกับหนังสือ "I Am Malala" ที่จะจุดไฟแห่งทางความคิดและปลุกพลังความอยากเรียนรู้ในตัวคุณ หรือถ้าอยาก "อ่าน" แบบเรียนไทยอย่างถ่องแท้ใน "ชาตินิยมในแบบเรียนไทย" เดินไปสัมผัสครอบครองได้ที่บูทสำนักพิมพ์มติชน โซนพลาซ่า

นอกจากนั้น ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้ มีนิทรรศการ กิจกรรมเสวนา และหนังสือน่าสนใจมากมายจาก 435 สำนักพิมพ์ ที่รอคอยจะติดอาวุธทางปัญญาให้คนฟัง-คนอ่าน ...ไปอ่านกันเถอะ ถ้าอยากรู้ว่าการอ่าน-การศึกษาเปลี่ยนโลกได้จริงหรือเปล่า

รุ่งนภา พมมะศรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook