เผยสติปัญญามนุษย์ เพิ่มขึ้นในทุกเจเนอเรชั่น
เรามักได้ยินคำพูดในเชิงสบประมาทสติปัญญาของคนรุ่นใหม่อยู่เสมอว่า เทียบแล้วยังห่างไกลกันมากกับสติปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อน อย่างไรก็ตาม คำกล่าวในทำนองดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าใดนัก เนื่องจากผลการค้นคว้าวิจัยหลายต่อหลายครั้งแสดงให้เห็นในทางตรงกันข้ามว่า สติปัญญาของมนุษย์นั้นพัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละชั่วคนที่ผ่านพ้นไป
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยเรื่องพัฒนาการของคนหรือกลุ่มบุคคลในช่วงเวลาหลายปีหรือที่เรียกกันว่าลองกิจูดดินัล สตัดดี้ ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งสกอตแลนด์ เอ็นเอชเอส กรัมเปียน ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ไม่เพียงยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ยังให้เหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นอีกด้วย
ทีมวิจัยร่วมดังกล่าว ดำเนินการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 751 ที่เกิดในเมืองอาเบอร์ดีน แคว้นสกอตแลนด์ ประเทศอังกฤษในโครงการศึกษาที่เรียกว่า "อาเบอร์ดีน เบิร์ธ โคฮอร์ท" โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มตามปีเกิด คือกลุ่มแรกเกิดในปี 1921 ส่วนกลุ่มหลังเกิดในปี 1936 กลุ่มตัวอย่างทั้งสองนี้ต้องผ่านการทดสอบเพื่อการวิจัยทุกคน ครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี จากนั้นก็ดำเนินการทดสอบอีกเป็นระยะๆ อีกรวม 5 ครั้ง ระหว่างปี 1998 ถึงปี 2011
ในการทดสอบครั้งแรกต่อจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2 เจเนอเรชั่นเมื่ออายุ 11 ปีนั้น ค่าความแตกต่างทางด้านไอคิวเปรียบเทียบ ต่างกันที่ 3.7 จุดระหว่างผู้คนสองยุคดังกล่าว แต่เมื่อมีการทดสอบเพื่อวัดไอคิวเมื่อกลุ่มตัวอย่างอายุได้ 62 ปี ค่าความต่างทางด้านไอคิวเปรียบเทียบดังกล่าวกระโจนพรวดขึ้นเป็น 16.5 จุด
ดร.โรเบิร์ต สตาฟฟ์ ผู้นำการศึกษาวิจัยครั้งนี้ยอมรับว่า การเพิ่มขึ้นของความฉลาดของคนรุ่นที่เกิดในปี 1936 ดังกล่าวนั้นถือว่าสูงจนน่าประหลาดใจ และแสดงให้เห็นว่าค่าความฉลาดโดยเฉลี่ยของประชาชนทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะในอาเบอร์ดีนในเจเนอเรชั่นดังกล่าวน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
โจนาธานพลัคเกอร์ นักวิจัยด้านสติปัญญาและนักจิตวิทยาการศึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัย กล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งใหม่นี้มีคุณลักษณะที่น่าสนใจตรงที่แสดงให้เห็นว่าค่าความต่างทางด้านไอคิวเปรียบเทียบเมื่อกลุ่มตัวอย่างเติบใหญ่ขึ้นนั้นเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงระยะเวลา 50 ปี ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ความชาญฉลาดของคนเรา อย่างน้อยที่สุดก็ในส่วนที่ใช้ทำบททดสอบนั้น ไม่ได้ตายตัวในตอนอายุน้อยๆ แต่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงอายุของคนเรา
ผลการศึกษาใหม่นี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้หลายชิ้นในส่วนที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์เติบโตของไอคิวโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเรียกกันว่า "ฟลินน์ เอฟเฟกต์" ตามชื่อ เจมส์ อาร์. ฟลินน์ นักวิจัยสติปัญญามนุษย์ชาวอเมริกัน
ดร.โรเบิร์ต สตาฟฟ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยอาเบอร์ดีน ชี้ให้เห็นที่มาที่ก่อให้เกิดฟลินน์ เอฟเฟกต์ ว่าโดยรวมแล้วเป็นผลที่เกิดจากสภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติ เมื่อมาตรฐานการครองชีพของคนเราดีขึ้น หลายๆ อย่างก็ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อาทิ ภาวะโภชนาการ, การศึกษา, ความมั่นคงในชีวิต และปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ อีกมาก ทำให้ความสามารถในการแก้ปัญหา (ในการทดสอบ) ก็เพิ่มตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นายไมเคิล วูดลีย์ นักวิชาการด้านสติปัญญาอีกราย แย้งว่า ผลวิจัยที่อาเบอร์ดีน น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของความสามารถในการทำบททดสอบมากกว่าอย่างอื่น หรือไม่ก็แสดงให้เห็นถึงความชำนาญเฉพาะทางที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่มาตรวัดบางด้านในงานวิจัยที่ตนดำเนินการชี้ว่าลดต่ำลงเล็กน้อย
โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า ยังคงถือว่าคนรุ่นก่อนเหนือกว่าคนรุ่นนี้อยู่ไม่น้อย