เล่าชีวิต ศ.นพ.ประเวศ วะสี สอบได้ที่ 1 เพราะนิยายจีนของย่า

เล่าชีวิต ศ.นพ.ประเวศ วะสี สอบได้ที่ 1 เพราะนิยายจีนของย่า

เล่าชีวิต ศ.นพ.ประเวศ วะสี สอบได้ที่ 1 เพราะนิยายจีนของย่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพราะเชื่อว่า อ่านเปลี่ยนชีวิต การอ่านทำให้เป็นคนมีสติปัญญา มีเหตุมีผล และเป็นคนดีมีศีลธรรมในที่สุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส จึงยกประสบการณ์ชีวิตจากเด็กยากจนคนหนึ่ง หลังได้อ่านนวนิยายก็ทำให้ได้เปิดหูเปิดตา ได้รู้หลากซอกมุมของประเทศจีน ทั้งที่เขาพักอาศัยอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี

เริ่มอ่านหนังสือออกบ้าง เมื่ออายุ 7 ปี ความบังเอิญที่ย่าอ่านหนังสือไม่ออกแต่อยากฟังนิยายก็ใช้ผมอ่านให้ฟัง ซึ่งเป็นนวนิยายจีนเรื่องต่างๆ จากหนังสือพิมพ์สมัยนั้น พออ่านให้ย่าฟัง ท่านก็สนุกหัวเราะคิกคัก บ้างย่าก็พูดมาว่า มันกำลังแก้เผ็ดกัน ซึ่งผมไม่รู้ว่าคืออะไร แต่พออ่านไปๆ ก็เริ่มสนุกจึงหยิบมาอ่านเอง ติดมาก ตอนนั้นอ่านทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น พออ่านไปๆ ก็เริ่มรู้เรื่อง ทั้งที่อยู่เมืองกาญจนบุรี ไม่เคยไปไหน เห็นแต่กองฟาง ภูเขา หน่อไม้ แต่การอ่านหนังสือทำให้ได้รู้อะไรหลายอย่างเกี่ยวกับประเทศจีน อาทิ รู้จักเมือง ระบบราชวงศ์ ประเพณีต่างๆ

การอ่านทำให้ ด.ช.ประเวศเกิดจินตนาการ จากชีวิตที่อาศัยอยู่ที่แคบๆ เห็นอะไรเดิมๆ แต่การอ่านหนังสือได้พาเขาไปไกลมาก ได้รู้เรื่องตงฉิน กังฉิน จนจำฝังใจว่าเกลียดพวกกังฉินที่สุด เพราะเป็นพวกเลวร้าย

ตอนขึ้น ระดับมัธยมศึกษาก็ยังติดอ่านนวนิยายเหมือนเดิม ตอนนั้นพี่ชายที่อยู่ชั้น ม.6 ห่วงว่าจะอ่านแต่นวนิยายจนสอบตก ก็คอยรังควาญไม่ให้อ่านนวนิยายและให้มาอ่านหนังสือเรียนแทน แต่ผมก็มีวิธีแอบอ่านจนได้ จนผลการศึกษาออกมาซึ่งตรงข้ามกับที่พี่ชายคาด เพราะผมสอบได้ที่ 1 ก็เลยเลิกรังควาญไป

นอกจากยกตัวอย่างจากตัวเอง ศ.นพ.ประเวศยังยกผลการวิจัยถึงข้อดีของการอ่านหนังสือว่า

มี งานวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญทางระบบสมองว่า การอ่านทำให้สมองเติบโตขึ้น เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ โดยมีเครื่องมือที่ทำให้เห็นการทำงานของสมองต่อการรู้สึกนึกคิด ซึ่งก็เห็นว่าการอ่านทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมอง ทำให้สติปัญญาดี เรียนอะไรก็ดี เพราะการอ่าน

ระบบสมองมี 3 ชั้น อย่างสมองชั้นในสุดที่อยู่ข้างหลังศีรษะ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการอยู่รอด อาทิ การเต้นของหัวใจ การสืบพันธุ์ การกินอาหาร การต่อสู้ ส่วนสมองชั้นกลางทำหน้าที่กำหนดอารมณ์ ความรู้สึก และสมองชั้นหน้าทำหน้าที่สติปัญญา เหตุผล ศีลธรรม

สังคมไทยเป็น สังคมที่ใช้อำนาจแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่พ่อแม่ใช้อำนาจกับลูก สั่งให้ทำโน่นนี่ ครูก็ใช้อำนาจ เจ้านายก็ใช้อำนาจกับลูกน้อง ตรงนี้จะไปสร้างความสับสนในสมองของเด็ก ทั้งที่เด็กเกิดมาอยากค้นคว้าอยากคิดเป็นของตัวเองแล้วจะมีความสุข แล้วก็ไปกระตุ้นสมองส่วนหน้า ซึ่งเวลาถูกแม่ห้ามก็จะกลัวและต่อสู้โดยจะใช้สมองส่วนหลัง ฉะนั้นเวลาเราสอนศีลธรรมอะไร หรือจะคำขวัญ 12 ประการอะไรก็ไม่สำเร็จ เพราะศีลธรรมจะเกิดต่อเมื่อเด็กได้คิดเองทำเอง เพราะได้ใช้สมองส่วนหน้า

ศ.นพ.ประเวศ เล่าว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนเกียร์ใหม่ จากเกียร์หลังเป็นเกียร์หน้า ต้องทำเรื่องการอ่านให้เป็นพลังเล็กปฏิรูปประเทศไทย ทำให้เด็กคิดเองทำเอง หากทำตรงนี้ทุกชุมชนท้องถิ่น มีการส่งเสริมเครือข่ายเด็กและเยาวชนให้เขาคิดเองทำเองโดยมีผู้ใหญ่คอยหนุน ไม่ใช้อำนาจ อย่างไรก็ดี อยากให้กลุ่มคนที่ทำงานด้านนี้มาประชุมครั้งใหญ่กัน แล้วชวนองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลให้มาร่วมสนับสนุน เพราะเขามีงบประมาณและต่อสู้ของบประมาณเพิ่มขึ้นได้

สาเหตุที่ทำให้ คนไทยอ่านหนังสือน้อย ส่วนหนึ่งเพราะเราทำระบบการศึกษากับวิชาการให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่ระบบการศึกษาต้องเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง อาทิ การเรียนที่มีความสุข การเรียนที่สนุก ที่ผ่านมาจึงไม่แปลกหากเด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษมาตลอดแต่พูดไม่ได้ เพราะเราไม่สอนให้พูด เราเน้นแต่ไวยากรณ์ ระบบการศึกษาที่ผ่านมาจึงทำให้คนเกลียดการอ่าน เพราะเกิดความทุกข์กับการเรียน เรียนจบก็จบกัน ฉะนั้นปฏิรูปการศึกษาต้องถูกทางตีประเด็นให้แตก

แนวคิดการศึกษาของ ไทยที่ใช้มา 100 ปี เป็นแนวคิดที่ผิด ระบบก็ผิด เป็นแนวคิดแบบอาณานิคม ซึ่งเรื่องนี้เกิดตั้งแต่ที่ตะวันตกรุกรานประเทศแถบนี้ ตอนนั้นคนไทย

คิด ว่าฝรั่งมีอำนาจมาก เพราะเขามีความรู้และเราไม่มีความรู้ ฉะนั้นต้องจัดการศึกษาแบบที่ต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย เป็นการเรียนแบบท่องจำ เราใช้เรื่องดังกล่าวมามากเกินจากการต้องพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพที่ยังมี เรื่องอื่นๆ อีกมาก ซึ่งคนโบราณก็รู้จึงมีคำกล่าวว่า 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น 10 ตาเห็นไม่เท่ามือคลำ

ฉะนั้นการเรียนรู้ ที่ดีที่สุดคือการลงมือทำ แต่เราจัดการศึกษาแบบ 10 ปากว่า และได้ทุ่มกำลังทั้งหมดไปสอนการท่องหนังสือหมด ต้องพบกับความศูนย์เปล่า ที่ผลลัพธ์คือบัณฑิตจบมาแล้วทำงานไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ

โครงการตู้หนังสือในบ้านเด็ก

เพราะ รู้ว่าการอ่านเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ มีคุณอเนกอนันต์ช่วยให้ผู้อ่านมีสติปัญญา สมาธิ อารมณ์ เป็นคนมีเหตุผล คุณธรรม แต่ปัจจุบันยังมีเด็กยากจนอีกมากที่อยากอ่านหนังสือแต่ไม่มีหนังสือดีๆ อ่าน มูลนิธิเด็กจัดโครงการตู้หนังสือในบ้านเด็ก โดยจัดหนังสือจำนวน 50 เล่ม พร้อมตู้หนังสือรวมจำนวนเงิน 6,000 บาทต่อตู้ ส่งไปยังบ้านเด็กที่ยากจน ขาดโอกาส เป็นนักเรียนในระดับชั้น ป.4-ป.6 และชั้น ม.1-ม.3 ที่เป็นช่วงวัยที่กำลังค้นหาแรงจูงใจ เหมาะแก่การบ่มเพาะอุดมคติที่ดีเพื่อมีผลกับชีวิตในอนาคต โดยจะเป็นหนังสือการ์ตูนที่ได้รับรางวัลทั้งรางวัลระดับนานาชาติ รางวัลระดับประเทศมากมาย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการฯ โดยสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปยื่นลดหย่อนภาษีประจำปีได้ โทร.0-2814-0369 หรือเว็บไซต์ www.ffc.or.th


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook