การอ่านหนังสือ วาระแห่งชาติ

การอ่านหนังสือ วาระแห่งชาติ

การอ่านหนังสือ วาระแห่งชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย นพ.สมเกียรติ ธาตรีธร

มีประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งซึ่งมีข่าวที่ค่อนข้างแทงใจปัญญาชนไทย คือการศึกษาไทยอยู่ในอันดับ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียน จนมีการพูดซ้ำเติมว่า ที่ได้อันดับ 8 เนื่องจากยังสำรวจอีกสองประเทศไม่เสร็จ

ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยที่ผ่านมามีปัญหาอยู่สองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือค่านิยมในการเน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหา จึงมีปรากฏการณ์ปริญญาพาณิชย์ ที่มีการซื้อขายในปริญญาเอกหรือรับจ้างทำปริญญาเอก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไม่เกี่ยวกับว่ามีความรู้จริงหรือไม่ ประเด็นที่สองคือการเน้นการสอนมากกว่าการอ่านและศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากการวิจัยเชิงสำรวจแล้วว่า คนไทยทั้งประเทศอ่านหนังสือเฉลี่ยทั้งปีเพียงแค่เป็นจำนวนนาทีเท่านั้น จุดนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักที่สำคัญประเด็นหนึ่งของการรณรงค์เรื่องการศึกษา เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องการอ่านซึ่งนับว่ามาถูกทางเชิงคุณภาพ เพียงยังขาดแต่เชิงปริมาณที่การรณรงค์ยังไม่เข้มข้นและไม่ขยายขนาดให้ครอบคลุมทุกส่วนของประเทศอย่างจริงจัง

อานิสงส์ของการอ่านหนังสือศึกษาด้วยตัวเองนั้นมีตัวอย่างให้เห็นมาทุกยุคทุกสมัย ลองดูตัวอย่างบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ที่สร้างความสำเร็จจนโลกจดจำไม่รู้ลืมจากผลการอ่านหนังสือศึกษาด้วยตัวเองของบุคคลเหล่านั้น

1.เด็กหนุ่มชาวนาจีนคนหนึ่ง ไม่เคยออกเดินทางท่องโลก เพียงทำนา อ่านหนังสือติดตามข่าวคราวความเป็นไปของสังคมภายนอก และพบปะสนทนากับมิตรสหายที่ขวนขวายหาความรู้ด้วยกัน จนเป็นที่เลื่องลือในความรอบรู้ ได้รับสมญาว่ามังกรหลับแห่งเขาโงลังกั๋ง เมื่อใจอ่อนยอมไปเป็นที่ปรึกษาของก๊กหนึ่งในสามก๊กสมัยนั้น เมื่ออายุ 27 ปี ก็แสดงความสามารถทั้งทางการเมือง การทูต การปกครอง การทหาร จนได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์-จูกัดเหลียงขงเบ้ง (ค.ศ.181-234)

2.เด็กจีนคนหนึ่ง พ่อแม่เป็นชาวนายากจนและตายตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก เคยถึงขอทานเขากิน ต้องไปบวชเณรเพื่อยังชีพและได้เรียนหนังสือบ้าง บวชเป็นพระอยู่ช่วงสั้นๆ ก็สึก มุ่งมั่นอ่านหนังสือหาความรู้ทั้งบู๊ ทั้งบุ๋นด้วยตนเอง เข้าร่วมกลุ่มการเมืองจนได้เป็นหัวหน้า รวบรวมผู้คนเข้าโค่นล้มราชวงศ์หยวนของมองโกลได้ ตั้งตัวเป็นปฐมจักรพรรดิของราชวงศ์หมิง ซึ่งปกครองจีนอยู่ 276 ปี-จูหยวนจาง (จักรพรรดิหงอู่) (ค.ศ.1328-1398)

3.เจ้าชายแห่งปรัสเซียซึ่งเป็นรัฐทหาร บิดาเป็นกษัตริย์ปรัสเซียที่มีบุคลิกกร้าวดุดัน ซึ่งได้สร้างกองทัพปรัสเซียจนเข้มแข็ง คาดหวังลูกให้เป็นนักการทหาร แต่ตัวเจ้าชายกลับชอบทางศิลปะ วรรณคดี และดนตรี โดยเฉพาะชอบเป่าขลุ่ย เคยหนีออกจากวังเพราะทนความเข้มงวดไม่ไหวแต่ถูกจับตัวกลับมาได้ เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ต้องรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของประเทศ จึงอ่านหนังสือ ศึกษาการทหารอย่างจริงจัง จากเด็กที่เกลียดการทหารกลายเป็นจอมทัพนักการทหารที่เก่งกาจ รบชนะมากมายจนเป็นที่ยำเกรงของทั้งยุโรป-เฟรเดอริกมหาราช (เฟรเดอริกที่ 2 แห่งปรัสเซีย) (ค.ศ.1712-1786)

4.เด็กอเมริกันคนหนึ่ง เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนเพียงสามเดือนก็เลิกเรียน แม่ต้องสอนหนังสือให้แทน ชอบเรียนรู้และทดลองด้วยตัวเอง อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ทุกเล่มที่หาได้ ผลการค้นคว้าอ่านหนังสือและทดลองด้วยตนเอง ทำให้เด็กที่เรียนในระบบเพียงสามเดือนคนนี้ประดิษฐ์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติพันกว่าอย่าง รวมทั้งหลอดไฟฟ้าและเครื่องบันทึกเสียง-ธอมัส แอลวา เอดิสัน (ค.ศ.1847-1931)

5. เด็กอินเดียคนหนึ่ง พ่อแม่ยากจน ชอบคณิตศาสตร์ ได้ทุนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพียง 1 ปี ก็ถูกให้ออก เพราะทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้เต็มร้อยแต่วิชาอื่นตกหมด ออกไปทำงานเป็นเสมียน ค้นคว้าหาอ่านหนังสือเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ศึกษาด้วยตนเองจนคิดสูตรทางคณิตศาสตร์ชั้นสูงได้มากมาย ศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ของอังกฤษต้องเดินทางไปอินเดีย เชิญเป็นผู้ร่วมทำวิจัยทางคณิตศาสตร์ ได้เป็นสมาชิกราชบัณฑิตของอังกฤษคนแรกที่เป็นชาวต่างประเทศ-ศรีนิวาสะ รามานุจัน (ค.ศ.1887-1920)

6.เด็กลูกจีนในเมืองไทยคนหนึ่ง เรียนจบเพียงชั้นมัธยม 4 (ม.2 สมัยนี้) หลังจากนั้นได้อ่านหนังสือ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เข้ารับราชการจนได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากร และเป็นอาจารย์ มีผลงานเขียนมากมายหลายร้อยเล่ม บั้นปลายชีวิตได้เป็นศาสตราจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก-ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) (ค.ศ.1888-1969)

7.เด็กหนุ่มออสเตรียคนหนึ่ง เรียนหนังสือไม่จบชั้นมัธยม เลี้ยงชีพด้วยการวาดรูปขาย เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งแรกสมัครเข้าเป็นพลทหาร ทำการรบอย่างกล้าหาญจนได้กางเขนเหล็กซึ่งเป็นเครื่องหมายกล้าหาญชั้นสูงสุด ได้เป็นสิบโท หลังสงครามได้เข้าร่วมพรรคการเมืองเล็กๆ เป็นสมาชิกหมายเลข 7 ผลจากการอ่านหนังสือสั่งสมความรู้และด้วยความกล้าในการแสดงออก สิบโทออสเตรียคนนี้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรค สุดท้ายได้เป็นผู้นำสูงสุดของเยอรมนี คนที่เรียนไม่จบชั้นมัธยมคนนี้สามารถสยบบรรดาจอมขุนพลเยอรมันทุกเหล่าทัพชนิดชี้ซ้ายชี้ขวาได้ ได้รับความจงรักภักดีจากบริวารจนนาทีสุดท้ายของชีวิต-อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (ค.ศ.1889-1945)

8.เด็กจีนลูกชาวนาระดับกลางคนหนึ่ง ได้เห็นประเทศถูกย่ำยี จึงออกจากบ้านหาทางเรียนจบวิทยาลัยครู อ่านหนังสือค้นคว้าด้วยตัวเองต่อจนรอบรู้ทั้งด้านภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง การทหาร เข้าต่อสู้ทางการเมืองและการทหารจนประสบชัยชนะ ทำการปฏิวัติสำเร็จ เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศจีน-เหมาเจ๋อตุง (ค.ศ.1893-1976)

9.เด็กญี่ปุ่นคนหนึ่ง เรียนหนังสือในระบบเพียงชั้นประถม เลิกเรียนเมื่ออายุ 15 ปี อ่านหนังสือศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ทำธุรกิจจนมีเงินระดับเศรษฐี เข้าเล่นการเมืองได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น-คาคูเออิ ทานากะ (ค.ศ.1918-1993)

10.เด็กอังกฤษคนหนึ่ง เรียนจบเพียงชั้นมัธยม เลิกเรียนเมื่ออายุ 16 ปี อ่านหนังสือศึกษาด้วยตนเองจนตกผลึกทางความคิด เข้าทำงานการเมืองได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลมาร์กาเรต แธตเชอร์ และรับช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ประเทศมหาอำนาจของโลกต่อจากแธทเชอร์-จอห์น เมเจอร์ (ค.ศ.1943-ยังมีชีวิต)

แน่นอนว่าบุคคลเหล่านั้นมีลักษณะเด่นประจำตัวเป็นพื้นอยู่แล้ว แต่ลักษณะเด่นเหล่านั้นไม่อาจเปล่งพลังและศักยภาพอย่างที่เป็นได้ หากไม่มีความรับรู้จากการอ่านและการศึกษาด้วยตนเอง และนำความเก่งเฉพาะตัวไปต่อยอดความรู้นั้น คนเก่งจำนวนมากที่ไม่มีลักษณะชอบศึกษาค้นคว้า หรือไม่มีโอกาสได้รับการหล่อหลอมให้ชอบศึกษาค้นคว้า จึงกลายเป็นเพชรประดับดินทรายและโคลนตม ซึ่งน่าจะมีไม่น้อยในเมืองไทย

เมื่อคนในสังคมปรับพฤติกรรมเป็นนักอ่านแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหาที่จะให้อ่านของหนังสือและสื่อมาตรฐาน ต้องเป็นข้อมูลความรู้ที่ตรงและจริง และครอบคลุมทุกเนื้อหาในทุกพื้นที่ ไม่ให้มีพื้นที่สีดำของข้อมูล ไม่มีวาระซ่อนเร้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง รวมถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการหาคำตอบ เพื่อกำหนดทิศทางขับเคลื่อนสังคมอย่างมีเหตุผล สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริง

วาทะของวินสตัน เชอร์ชิล

"I am always ready to learn though I am not always ready to be taught"

"ผมพร้อมเสมอที่จะเรียนรู้ แม้ว่าไม่ค่อยพร้อมที่จะถูกสอน"

วาทะเชิงบวกของโทมัส เอดิสัน

"I have never failed, just for sometimes, my success is to know the unsuccessful one"

"ผมไม่เคยล้มเหลวเลย เพียงบางครั้งความสำเร็จของผมคือการได้รู้วิธีไม่สำเร็จ"

ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook