เผย "แอลกอฮอล์" มีผลต่อวิวัฒนาการมนุษย์
ผลงานวิจัยของทีมวิจัยจากซานตาเฟ่ คอลเลจ นำโดยศาสตราจารย์ แมทธิว คาร์ริแกน ที่พยายามศึกษาวิจัยสภาพทางกายภาพของมนุษย์ยุคใหม่ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคแอลกอฮอล์ ด้วยการศึกษากลุ่มยีนที่ทำหน้าที่กำกับความสามารถในการย่อยสลายแอลกอฮอล์ของมนุษย์ซึ่งเรียกว่า "เอดีเอช4 แฟมิลี"
กลุ่มยีนดังกล่าวนี้พบในกระเพาะอาหาร, ลำคอ และลิ้นของสัตว์ในตระกูลไพรเมททุกชนิด แต่ในกลุ่มยีนดังกล่าวของมนุษย์ ทีมวิจัยพบการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เมื่อ 10 ล้านปีก่อน ซึ่งส่งผลให้บรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคโบราณดังกล่าว มีความสามารถในการย่อยสลายแอลกอฮอล์มาเนิ่นนาน ก่อนหน้าที่จะมีการคิดค้นการกลั่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ ขึ้น
ทีมวิจัยเชื่อว่าความสามารถดังกล่าวส่งผลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากผลไม้ที่ร่วงหล่นลงมาบนพื้น เน่าเปื่อยหรือกลายเป็นผลไม้หมักได้ในยามที่อาหารอื่นๆขาดแคลน และอาจเป็นส่วนหนึ่งซึ่งส่งผลให้มนุษย์ในยุคโบราณเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตจากบนต้นไม้ มาใช้ชีวิตบนพื้นดินแทน
ศาสตราจารย์คาร์ริแกนเตรียมทำวิจัยต่อเนื่องว่า สัตว์จำพวกลิงใหญ่ อย่างเช่น กอริลลา หรือ ชิมแปนซี มีความสามารถในทำนองเดียวกันนี้หรือไม่อีกด้วย