"กวดวิชา" แจงกำไรไม่เยอะ ศธ.เล็งแก้กฎหมายรีดภาษี

"กวดวิชา" แจงกำไรไม่เยอะ ศธ.เล็งแก้กฎหมายรีดภาษี

"กวดวิชา" แจงกำไรไม่เยอะ ศธ.เล็งแก้กฎหมายรีดภาษี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าของติวเตอร์ดังโอดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ยันกำไรไม่มากอย่างที่คิด บางสาขาก็ขาดทุน ค่าเรียนเฉลี่ยแค่ ชม.ละ 20 กว่าบาท ขู่ได้ไม่คุ้มเสีย ผู้บริโภคต้องรับภาระอยู่ดี ขณะที่ ศธ.ขานรับมติ ครม. เตรียมแก้ กม.การศึกษาเอกชนเลิกยกเว้น

ความคืบหน้ากรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสถาบันกวดวิชา เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถาบันที่ลงทุนไม่สูง แต่มีกำไรค่อนข้างมาก ประกอบกับไม่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนนิติบุคคล เพราะเป็นเรื่องการศึกษา รัฐบาลจึงไม่ได้เข้าไปควบคุม โดย ครม.มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปแก้ประกาศกระทรวงให้ทันสมัยต่อการจัดเก็บภาษีมานำเสนอ ครม.ภายใน 30 วันนั้น

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูรเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ยังต้องรอหนังสือแจ้งมติ ครม.อย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องดังกล่าวพูดกันมาเกือบสิบปีแล้วกับทาง ป.ป.ช. และล่าสุดก่อนจะมีการนำเสนอ ครม. ทาง ป.ป.ช.ก็ได้สอบถามมายัง สช.เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นต่างๆ เช่น จำนวนโรงเรียนกวดวิชา ทั้งนี้ สช.พร้อมดำเนินการตามมติ ครม. แต่จากการศึกษาแนวทางเบื้องต้นการจะจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีตาม พ.ร.บ.การศึกษาเอกชน เนื่องจากเป็นโรงเรียน จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาเอกชนเพื่อยกเลิกการยกเว้นให้กับโรงเรียนกวดวิชาเสียก่อน ซึ่งในรายละเอียดจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังด้วย อย่างไรก็ตาม คิดว่าหากจะจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา แนวโน้มก็น่าจะจัดเก็บภาษีตามรายได้จริงต่อปี

เลขาธิการ กช.กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชานั้น ตามระเบียบ สช.ปัจจุบันกำหนดให้โรงเรียนกวดวิชาต้องส่งรายละเอียดของอัตราค่าเล่าเรียนมาให้ สช.พิจารณาว่า มีการกำหนดราคาที่เหมาะสมหรือไม่ โดยจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค จากนั้น สช.จึงจะพิจารณาอนุมัติให้จัดตั้ง ส่วนโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ขออนุญาตและแอบเปิดสอนนั้น หากมีการตรวจพบหรือร้องเรียนมาก็จะฟ้องร้องดำเนินคดี ส่วนผลกำไรของโรงเรียนกวดวิชานั้น เท่าที่ทราบโรงเรียนกวดวิชา 1 แห่งจะกำไรไม่มากนัก แต่ที่ดูมีกำไรอาจเพราะนำรายได้มารวมกันหลายๆ สาขาหรือหลายแห่งที่อยู่ภายใต้บริษัทเดียวกัน

"สำหรับการแก้ปัญหาการกวดวิชา คงต้องไปดูระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนว่า จะทำอย่างไรให้จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เน้นความรู้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักเรียนต้องมากวดวิชากันจำนวนมาก" นายบัณฑิตย์กล่าว

นายพิสิฏฐ์ วัฒนผดุงศักดิ์ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชานีโอฟิกส์ กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าโรงเรียนกวดวิชาไม่เสียภาษีเลยก็คงไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาเสียภาษีหลายอย่าง อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีเงินเดือน ภาษีป้าย เป็นต้น เพียงแต่กำไรจากค่าเล่าเรียนจะไม่เสียภาษีตามที่ ศธ.กำหนดไว้เท่านั้น ส่วนที่มีการพูดกันว่า โรงเรียนกวดวิชามีรายได้เป็นหลักหมื่นล้านบาทต่อปีนั้น ตัวเลขไม่น่าจะถึงขนาดนั้น เพราะเท่าที่จำได้ตัวเลขดังกล่าวน่าจะเป็นการประเมินของนักวิชาการมหาวิทยาลัยคนหนึ่งเท่านั้น ไม่น่าจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง อีกทั้งการประเมินในครั้งนั้นก็น่าจะมีการนำค่าใช้จ่ายของเด็กตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าอาหารมารวมด้วย รวมถึงรวมรายได้ของกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนที่เปิดสอนกันเอง ซึ่งกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตถูกต้อง และถือว่ามีความเสี่ยงกับผู้ปกครอง เพราะเก็บค่าเล่าเรียนสูง บางแห่งคิดค่าเรียนชั่วโมงละ 500 บาท ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาที่ขออนุญาตถูกต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่ายที่ชั่วโมงละ 20 กว่าบาทเท่านั้น

"โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้มีกำไรมากขนาดนั้น เพราะมีคนเปิดมากในปัจจุบัน บางสาขาที่เปิดก็เพื่อช่วยไม่ให้เด็กต้องเดินทางไกลไปเรียนเท่านั้น บางสาขาขาดทุนก็มี" นายพิสิฏฐ์กล่าว และว่า หากจะมีการออกกฎหมายมาเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาจริงๆ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และน่าจะมีผลกระทบต่อโรงเรียนกวดวิชา แต่จะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะโรงเรียนกวดวิชาก็ต้องไปเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นกับผู้บริโภคอยู่ดี

ด้านนายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเเห่งประเทศไทย (สสอท.) กล่าวว่า กรณีที่นายอนุสรณ์ ศิวะกุล ผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ หรือเคมี อาจารย์อุ๊ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา ระบุว่าหากจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ก็ควรจัดเก็บภาษีมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย เนื่องจากทำธุรกิจการศึกษานั้น ตนถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่มุ่งแสวงหากำไร การที่รัฐไม่จัดเก็บภาษี เนื่องจากมีเงื่อนไขทางการบริหารทางการเงินเป็นข้อแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายชัดเจนว่าผู้เป็นเจ้าของสามารถนำเงินไปใช้ได้ไม่เกิน 30% ของรายได้หักรายจ่าย ส่วนที่เหลืออีก 70% จะต้องนำมาจัดสรรเข้า 7 กองทุนในมหาวิทยาลัยตามมติสภามหาวิทยาลัย เช่น กองทุนพัฒนาอาจารย์ กองทุนวิจัย กองทุนพัฒนาห้องสมุดและเทคโนโลยี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยเอกชนจึงได้รับการยกเว้นภาษี


ที่มา : นสพ.มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook