"วลัยกร สมรรถกร" จากวาดเส้น เล่นสี สู่ "นักวาดการ์ตูนสีออร์แกนิค"

"วลัยกร สมรรถกร" จากวาดเส้น เล่นสี สู่ "นักวาดการ์ตูนสีออร์แกนิค"

"วลัยกร สมรรถกร" จากวาดเส้น เล่นสี สู่ "นักวาดการ์ตูนสีออร์แกนิค"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อแกะกล่องสี ภายในล้วนเต็มไปด้วยสีสันมากมาย หลายเฉด...ชีวิตคนเราก็เช่นกัน เมื่อเริ่มต้น เราอาจแต้มทาสีใดสีหนึ่งเป็นเส้นร่าง ระหว่างนั้นเราอาจใช้อีกสีหนึ่งระบายส่วนที่ยังว่างโล่ง ตามความชอบ ความสนใจ และจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนผ่าน

สำหรับ "วลัยกร สมรรถกร" หรือ "ต้องการ" ที่คนในแวดวงหนังสือรู้จักเธอดีในฐานะ "นักวาดการ์ตูนสีออร์แกนิค" เริ่มต้น เธอเลือกใช้สีร่างเส้นชีวิตของเธอเหมือนกับเด็กวัยรุ่นทั่วไป

เมื่อเวลาก้าวเดิน เธอลองใช้สีนั้น สีนี้ แต่งแต้มชีวิต สีแล้ว สีเล่า จนวันนี้เธอเลือกที่จะเก็บสีกล่องเดิม และเปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติค่อยๆ ระบายส่วนของชีวิตที่ยังดำเนินอยู่ แม้สีนั้นจะไม่สด ไม่ใส ไม่ทนทาน แต่นี่คือสีที่เธอเลือก และเชื่อว่าเหมาะสมกับตนเอง

"ความชอบ" กลายเป็นอาชีพ
"ต้องการ" เป็นเด็กหญิงที่รักการวาดภาพมาแต่ไหนแต่ไร ตอนสอบเอนทรานซ์เธอจึงเลือกคณะที่จะทำให้เธอได้วาดรูปมากที่สุด ซึ่งเธอได้เรียนและจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาตกแต่งภายใน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง

"ตอนเรียนมัธยมปลายสมัยนั้น เลือกเรียนสายวิทย์ เพราะคิดว่าเด็กที่เรียนสายวิทย์เก่งกว่าเด็กสายศิลป์ อะไรทำให้คิดแบบนั้นไม่รู้ ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากความถนัดของตัวเอง น่าจะเลือกเรียนสายศิลป์มากกว่า" เธอเล่าให้ฟังเมื่อนึกย้อนกลับไป

ระหว่างศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี แม้จะเป็นคณะที่เธอชอบ และทำให้เธอได้วาดรูปสมใจ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เธอคิดทั้งหมด เพราะเธอยังต้องเรียนวิชาอื่นไปพร้อมๆ กัน



หลังจบการศึกษาเธอประกอบอาชีพตามสาขาวิชาที่เรียนมาอยู่ได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็พบว่างานออกแบบตกแต่งภายในทำให้เธอไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง

"งานออกแบบตกแต่งภายใน เกี่ยวข้องกับคนเยอะแยะ ทั้งผู้รับเหมา เจ้าของบ้าน เจ้าของงาน ต้องทะเลาะกันตลอด และงานชิ้นหนึ่งใช้เวลาเป็นปี แต่งานวาดภาพมันเริ่มที่เรา และจบที่เรา ได้เป็นตัวของตัวเอง"

แม้จะเริ่มรู้สึกว่างานออกแบบตกแต่งภายในไม่ใช่ตัวตนของเธอ แต่ระหว่างนั้นเธอยังคงวาดรูปอย่างมีความสุขไปเรื่อยๆ กระทั่งมีการจัดงานหนังสือทำมือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับเธอ


นิตยสาร a day เวทีแจ้งเกิด
เมื่อประมาณ 14 ปีก่อน ที่นิตยสาร a day เปิดตัวขึ้นในฐานะนิตยสารทางเลือก และกลายเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในแวดวงนิตยสารบ้านเรา ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ "ต้องการ"เริ่มต้นเข้าไปเป็นนักวาดการ์ตูนประจำนิตยสาร

"ตอนนั้นมีงานหนังสือทำมือ เพื่อนๆ ก็ชวนทำหนังสือขาย เราเขียนหนังสือไม่เป็น ก็เลยวาดการ์ตูนขาย ทำเป็นเล่มเล็กๆ ชื่อ "A Sunday" เล่าเรื่องวันหยุดสบายๆ ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วพี่ "โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" บรรณาธิการนิตยสาร a day ตอนนั้น มาซื้อการ์ตูนของเราไป เราก็ไม่รู้ว่าเขามาซื้อ แต่ไปเจอเขาอีกทีที่งาน Fat เขาก็เข้ามาถามว่า "คนไหนคือต้องการ?" เขาให้เบอร์ไว้ แล้วให้ไปคุยที่ a day แล้วพี่เขาก็ให้ทำคอลัมน์เลย"

"ต้องการ"เริ่มวาดการ์ตูนเงียบในคอลัมน์ "going places" เป็นการ์ตูนเล่าเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในสไตล์ของผู้วาด เธอจึงได้ร่วมงานกับนิตยสาร a day ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพิ่มเติมเนื้อหาขึ้นมาในภายหลัง จนกระทั่งทุกวันนี้กลายเป็นคอลัมน์ "going with the flow" การ์ตูนเล่าเรื่องที่วาดขึ้นจากสีออร์แกนิค

นักวาดภาพประกอบ "ซีไรต์"
หลังร่วมงานกับนิตยสาร a day ภาพวาดของเธอกลายเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้าง เธอได้รับการติดต่อให้วาดภาพเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึง "งานวาดภาพประกอบ" อีกหนึ่งอาชีพ ที่เธอเองก็ไม่เคยคาดคิด

"ตอนนั้นยังทำงานประจำคู่ไปกับการวาดภาพ ทำมาจนได้รับงานใหญ่ วาดภาพประกอบให้กับนวนิยาย "ความสุขของกะทิ" ตอนนั้นทางสำนักพิมพ์อยากเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เพื่อส่งประกวดซีไรต์"

แต่สิ่งที่ตามมา กลับเหนือความคาดหมายขึ้นไปอีกเพราะ นวนิยายเรื่อง "ความสุขของกะทิ" ของคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ คว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ในปี 2549 ซึ่งส่งผลให้ "ต้องการ"ได้รับการขนานนามว่าเป็น "นักวาดภาพประกอบซีไรต์" ในทันที

"งานวาดภาพประกอบ เราต้องตีโจทย์ให้แตก อย่าง "ความสุขของกะทิ" ต้องวาดภาพประกอบทุกตอนเป็นภาพขาว-ดำ อธิบายให้กะทิโตเท่าในเรื่อง ที่สำคัญคือต้องไม่เห็นหน้ากะทิ เพราะในเรื่องกะทิจะเป็นเด็กที่มีปมเรื่องครอบครัว ทางสำนักพิมพ์อยากให้คนอ่านจินตนาการเอง

การใช้น้ำหนักสีก็ต้องไม่ใช้สีดำอย่างเดียว เพราะหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ ถ้าใช้สีดำสีเดียว จะทำให้ภาพไม่มีน้ำหนัก ต้องผสมกันหลายสี ทั้งสีดำ สีม่วง สีน้ำเงิน เพื่อให้เกิดความแตกต่างในน้ำหนัก"

จากความสามารถที่โดดเด่น เธอจึงเริ่มมีผลงานภาพวาดการ์ตูนของตัวเองตามมาอีกหลายเล่ม ทั้งหนังสือ "going places" รวมงานภาพวาดจากนิตยสาร a day หนังสือ "ความสุขของมะลิ" เรื่องราวเกี่ยวกับแมวรักของเธอ "slow book" หนังสือเกี่ยวกับวิถี slow life รวมไปถึง หนังสือ "บทสนทนาระหว่างฉันกับเธอ" ที่ได้รับรางวัลชมเชยจาก 5th International maga award ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้จัดขึ้น

"มะเร็ง" เนื้อดี
ความสุขและความสนุกจากการทำงาน ทำให้เธอหลงลืมเรื่องสำคัญ นั่นคือการดูแลสุขภาพของตัวเอง "ไฝ" ตรงข้อมือที่มีอยู่เดิม ค่อยๆ ขยายขนาดขึ้นจนผิดสังเกต เมื่อตัดสินใจไปตรวจ คุณหมอบอกว่า เธอกำลังเป็นมะเร็งผิวหนังขั้นที่ 1

"พอรู้ว่าเป็นมะเร็ง ก็รีบผ่าตัด ตัดต่อมน้ำเหลืองทางซีกขวาทิ้ง คว้านเนื้อบริเวณที่เป็นออก แล้วเอาเนื้อที่ขาไปแปะ ตอนนั้นร่างกายซีกขวาใช้ไม่ได้ไปประมาณ 1 เดือนกว่า จากนั้นมีเพื่อนแนะนำให้เข้าคอร์สธรรมชาติบำบัด จึงได้รู้ว่าอาหาร ข้าวของที่เรากินใช้ทุกวันนี้มีแต่สารเคมี ทำให้ต่อมาตัดสินใจขายบ้านที่กรุงเทพฯ แล้วไปซื้อที่ปลูกบ้านที่ปากช่อง เพื่อใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากสารเคมีจากนั้นจึงเริ่มหันหาธรรมชาติ ปลูกผักทานเอง ทำอาหารกินเอง ทำให้สุขภาพดีขึ้น ไม่ป่วย ไม่มีโรค"

มะเร็งที่ใครว่าเป็นเนื้อร้าย แต่สำหรับ "ต้องการ" มันน่าจะเป็น "เนื้อดี" ที่ทำให้เธอตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองใหม่ทุกอย่างนับแต่นั้น

"สี" ใหม่แห่งชีวิต
นอกจากปรับเปลี่ยนเรื่องการกิน-ใช้ตามวิถีธรรมชาติแล้ว "ต้องการ" ยังได้ค้นพบแนวทางการทำงานใหม่ๆ จากวิถีออร์แกนิค นั่นคือ "สี" จากลูกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ที่เธอหว่านเพาะด้วยตนเอง และทำให้เธอกลายเป็น "นักวาดการ์ตูนสีออร์แกนิค" เต็มรูปแบบ

"ตอนนั้นเก็บดอกอัญชันที่ปลูกมาชงชาดื่มเอง เห็นสีของดอกอัญชันออกมา เลยคิดว่ามันน่าจะใช้แทนสีน้ำได้ จึงทดลองกับลูกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ชนิดอื่นๆ ด้วย จนตอนนี้ได้สีแทนสีน้ำแบบเดิมจนเกือบครบแล้ว"

สีสันต่างๆ ที่เธอทดลองมีทั้งจากลูกผักปรัง ดอกกรรณิการ์ พริกฝรั่ง รวมไปถึงใบไม้ ดอกไม้อีกหลายชนิด ข้อดีของสีจากธรรมชาติคือไม่มีพิษ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่ทน เพราะเมื่อทิ้งไว้สีของมันจะซีดไปตามกาลเวลา

"ตอนเห็นงานภาพวาดจากสีออร์แกนิคมันซีด รู้สึกแย่ไปเลย ทำใจไม่ได้ แต่ถ้ามองตามความเป็นจริง มันก็เหมือนกับว่าภาพเหล่านี้มีชีวิต และเป็นธรรมชาติจริงๆ ซึ่งก็ทำให้เราเข้าใจและนึกว่าเป็นเรื่องสนุกดี"

หลังจาก "ต้องการ" ย้ายไปอยู่ปากช่อง เธอค่อยๆ ปรับเปลี่ยนงานภาพวาดของตนเอง จากที่เคยใช้สีน้ำ ก็เปลี่ยนมาเป็นสีออร์แกนิคเกือบทั้งหมด และล่าสุดเธอยังมีผลงาน "กล่องความทรงจำ" ซึ่งเป็นหนังสือภาพเล่าเรื่องที่ทุกภาพวาดขึ้นจากสีออร์แกนิค


ภาพวาด...ที่ไม่มีวันตาย
ทุกวันนี้ "ต้องการ" ยังคงพัฒนางานของเธออยู่เรื่อยๆ นั่นเป็นสาเหตุให้เธอมีความสุขกับการทำงานทุกวัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอเข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไปทุกวัน หากเธอหยุดอยู่กับที่ งานของเธอก็จะค่อยๆ หมดลมหายใจ

"เราเป็นนักวาดภาพ เป็นนักเขียน จริงๆ เราต้องทำงานทุกวันด้วยซ้ำ โลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้าเราตามโลกไม่ทัน ผลงานของเราก็จะเชย ดังนั้นในอีก 5 ปีข้างหน้า งานของเราก็จะไม่เหมือนเดิม"

"โดยเฉพาะทุกวันนี้ใครที่เป็นนักวาดภาพประกอบ นักวาดการ์ตูนกลับกลายเป็นเซเลบริตี้ ต้องออกงาน มีกิจกรรม มีแฟนคลับเป็นของตัวเอง อย่างเราก็มีคนที่ติดตามผลงาน ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่มีคนรู้จัก"

โลกที่เปลี่ยนไป ทำให้นักวาดภาพประกอบรุ่นบุกเบิกอย่าง "ต้องการ" ต้องปรับตัว มีการทำการตลาดให้กับตนเอง สร้าง fanpage มีการทำ workshop ไปบรรยาย ออกงาน เป็นวิทยากร ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

หลายคนดูแคลนว่าอาชีพนักวาดการ์ตูน หรือนักวาดภาพประกอบเป็นอาชีพที่ไม่มีความแน่นอนเรื่องรายได้ เหมือนอาชีพสำคัญๆ อื่นๆ แต่สำหรับ "ต้องการ" แล้ว เธอยึดถืออาชีพนี้มาตลอดชีวิตการทำงาน และยังคงจะทำงานนี้ต่อไปอย่างดีที่สุด

"นักวาดการ์ตูนเป็นอาชีพที่โอเค ถ้าเรารู้จักบริหารจัดการเวลา และการเงินของตัวเองให้ดี ส่วนใครที่คิดจะเอาดีทางด้านนี้อยากให้ตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ ลองผิด ลองถูก เราไม่มีวันรู้หรอกว่ามันใช่หรือเปล่า จนกว่าจะลงมือทำ เมื่อเริ่มแล้วอาจจะเอาลง Youtube เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเอง สมัยนี้เราต้องทำการตลาดให้ตัวเอง ไม่ใช่นั่งรอคนมาเห็นผลงานของเรา"

ภาพวาดชีวิตของใครก็เลือกสีจากกล่องมาลากเส้น สร้างโครง สุดแต่ใจรัก ใจชอบ บางครั้งอาจเลือกสีผิด ไม่เข้ากัน ไม่เหมาะสม แต่สิ่งที่หยุดไม่ได้คือเราต้องวาดภาพชีวิตของเราต่อไป เพราะท้ายที่สุดมันจะเป็นภาพที่เราภาคภูมิใจด้วยมันคือฝีมือของเรา และชีวิตที่เราเลือกเอง

Text : Suwimol

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook