เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาฝุ่นตลบ นายกสมาคมฯแนะเก็บ"แวต"หวั่นพ่อแม่แบกภาระ
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน-นายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชา ออกโรงเรื่องเก็บภาษี ขอให้กลับไปดูพ.ร.บ.การศึกษา แนะอาจเป็น "การลดหย่อน" แทน "ยกเว้น" หรือ เก็บเฉพาะ "แวต" ขอให้ดูรายได้โรงเรียนเป็นหลัก หวั่นผู้ปกครองแบกภาระจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรคาดปี′58 มูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาทะลุ 8 พันล้านบาท
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา โดย ครม.ให้กระทรวงศึกษาธิการ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำเป็นรายละเอียดในการปฏิบัติ เพื่อเสนอกลับมายัง ครม.อีกครั้งใน 30 วัน
นายบัณฑิต ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่าเรื่องนี้ตนไม่ได้คัดค้านแต่ขอเวลาปรับตัว และต้องไปดู พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ระบุว่าโรงเรียนเอกชนได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นภาษี ซึ่งอาจปรับรูปแบบจากการยกเว้นมาเป็นการลดหย่อนภาษีแทน หากจะต้องเก็บภาษีจริง
"เรื่องนี้เคยหยิบยกมาคุยหลายครั้ง ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรบอกว่าไม่ควรเก็บ เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องจ่ายค่าเรียนเพิ่มขึ้น จึงต้องมาคุยกันอีกว่าจะทำอย่างไร และเก็บภาษีรูปแบบใด อย่างไรก็ตาม ต้องมาดูด้วยว่าถ้าเก็บภาษีแล้วใครจะเป็นผู้รับภาระที่เกิดขึ้น นักเรียนที่อยู่ชนบทควรจะได้รับการส่งเสริมการศึกษาเพิ่มเติมหรือไม่ เรื่องนี้ต้องคิดกันหลายมุมด้วย"
ทั้งนี้ ตนมองว่าเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาต้องดูจากรายได้เป็นหลัก หากถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้จึงค่อยเสียภาษี
นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้กำหนดให้โรงเรียนกวดวิชาต้องมีกำไรไม่เกิน 20% ของเงินลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดการค้ากำไรเกินควร แต่ถ้ามีการเก็บภาษีอย่างเต็มรูปแบบก็จะมีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งปีหน้าจะขึ้นเป็น 8% และภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก 20% หรือคิดเป็นโรงเรียนต้องจ่าย 4% รวมภาษีทั้งสองประเภทคิดเป็น 12% และหากมีค่าต้นทุนจากการทำบัญชีอีก สัดส่วนภาษีที่ต้องจ่ายก็อาจเพิ่มเป็น 15%
"เมื่อต้นทุนเราสูงขึ้นก็ต้องมาคิดอีกทีว่าจะแบ่งภาระนี้มาที่เราและผู้เรียนอย่างไร ซึ่งผมมองว่ารัฐอาจเลือกเก็บเฉพาะแวต เพราะเป็นแนวคิดที่กรมสรรพากรเคยปรารภไว้ก่อนหน้านี้ และมีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก อย่างไรก็ดี โรงเรียนกวดวิชาก็คงต้องรักษาสิทธิคือจ่ายแวตให้กับรัฐโดยเก็บจากค่าเรียน ขณะเดียวกัน รัฐก็จะได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย"
นายธเนศ เอื้ออภิธร ผู้อำนวยการ-ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาเอ็นคอนเซปต์ กล่าวว่า โดยปกติ ศธ.มีการกำหนดเพดานจัดเก็บค่าเรียนชั่วโมงละ 100 บาท ถือเป็นหนึ่งกลไกที่ควบคุมโรงเรียนกวดวิชา ถ้าหากต้องมีการจัดเก็บภาษีจริง
"โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้ติดขัดอะไรถ้าต้องเก็บภาษี แต่อาจมีความยุ่งยากเรื่องบัญชีอยู่บ้าง เพราะเราไม่เคยมีระบบบัญชีทางธุรกิจมาก่อน ผมมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ถ้ามีระยะเวลาให้เราปรับตัวประมาณ 6 เดือนก็สามารถทำได้"
อนึ่ง ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อปี 2556 ได้ประเมินมูลค่าการตลาดธุรกิจกวดวิชา ทั้งในส่วนของการเรียนกวดวิชาในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัว หรือสอนเป็นกลุ่มไว้ที่ประมาณ 7,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตไปสู่ระดับ 8,189 ล้านบาทในปี 2558 หรือเติบโตเฉลี่ย 5.4% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการเพิ่มค่าเรียนต่อหลักสูตรและจำนวนนักเรียนที่กวดวิชาเพิ่มขึ้น