ปลา ′เปลี่ยนเพศ′ เพื่อสิ่งแวดล้อม
ปลา "ชีพเฮด" ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวพื้นที่สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล หรือเคลป์ บริเวณนอกชายฝั่งเกาะเเชเนล ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกือบจะสูญพันธุ์ไปจนหมดจากการทำประมง จนทางการต้องประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์โดยรอบเกาะเมื่อปี 2002 เมื่อกลับลงไปสำรวจอีกครั้งหนึ่งพบว่าปริมาณของปลาฟื้นฟูกลับมาใกล้เคียงกับสภาพเดิมแล้ว นอกจากนั้นยังพบความประหลาดใจที่ว่า ปลาชีพเฮดในพื้นที่ดังกล่าวมีขนาดตัวโดยเฉลี่ยใหญ่ขึ้นและมีปลาตัวผู้มากขึ้น
ปลาชีพเฮดนั้น เมื่อแรกเกิดจะเป็นตัวเมีย ต่อเมื่อโตขึ้นจนสามารถทำหน้าที่ปกป้องถิ่นที่อยู่ได้ก็จะเปลี่ยนเพศเป็นตัวผู้ และมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ทีมนักชีววิทยาที่ลงไปสำรวจพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาชีพเฮดในบริเวณดังกล่าวเปลี่ยนเป็นตัวผู้และมีขนาดใหญ่มากขึ้น สืบเนื่องจากปลาขนาดใหญ่วัดความยาวได้ราว 45 เซนติเมตรดังกล่าว สามารถจัดการกับเม่นทะเลได้ดีกว่าและมากกว่า ช่วยทำให้ประชากรของเม่นทะเลซึ่งจะกัดกินสาหร่ายสีน้ำตาลเป็นอาหาร อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมก่อให้เกิดสมดุลทางนิเวศในบริเวณดังกล่าว และทำให้พื้นที่เต็มไปด้วยเคลป์ที่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดได้
นอกจากจะเปลี่ยนเพศเป็นตัวผู้มากขึ้นแล้ว ทีมวิจัยพบว่าชีพเฮดตัวเมียในพื้นที่นี่ก็เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นด้วยเช่นกัน