วิกฤต! ไทยขาดแคลนหมอระบาดวิทยา ทั้งประเทศมี 171 คน ชี้เสี่ยง ค่าตอบแทนต่ำ

วิกฤต! ไทยขาดแคลนหมอระบาดวิทยา ทั้งประเทศมี 171 คน ชี้เสี่ยง ค่าตอบแทนต่ำ

วิกฤต! ไทยขาดแคลนหมอระบาดวิทยา ทั้งประเทศมี 171 คน ชี้เสี่ยง ค่าตอบแทนต่ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หมอระบาดขาดแคลนหนัก พบทั่วประเทศ 171 คน ไร้คนศึกษาต่อ 5 ปีเรียนแค่ 21 คน สาเหตุเป็นอาชีพเสี่ยง ต้องลงพื้นที่เก็บเชื้อโรค สารคัดหลั่ง ขณะที่ค่าตอบแทนต่ำ

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบการเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่ดี เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ทั้งโรคไข้หวัดนก โรคซาร์ หรือแม้กระทั่งโรคไวรัสอีโบลาที่กำลังระบาดอย่างหนัก นั่นเพราะมีทีมป้องกันและสอบสวนโรคอย่างรวดเร็ว ทำให้ทราบว่าบุคคลที่สงสัยเข้าข่ายป่วย หรือต้องอยู่ในเคสที่ต้องเฝ้าระวังและกักกันโรคหรือไม่ ซึ่งทีมดังกล่าว เรียกว่า ทีมระบาดวิทยา แต่ปัญหาคือ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแพทย์ด้านระบาดวิทยาอย่างรุนแรง จากการวิเคราะห์สถานการณ์กำลังคนในสายงานแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรค ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2553-2557 พบว่า คร. ได้สูญเสียแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรคเฉลี่ยปีละ 12 อัตรา ในขณะที่สามารถสรรหาเข้ามาได้เฉลี่ยปีละ 7.4 อัตรา กล่าวคือ และพบว่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีแพทย์เข้าศึกษาต่อสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงระบาดวิทยา เพียง 21 คนเท่านั้น นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยที่สุดในรอบ 35 ปี เนื่องจากในอดีตจะมีแพทย์เข้าศึกษาอย่างต่ำจำนวน 30 คนในระยะเวลา 5 ปี แต่เมื่อปี 2553 แพทย์เริ่มสนใจเรียนด้านนี้น้อยลง ส่งผลให้ภาพรวมตลอด 35 ปีพบแพทย์ด้านระบาดวิทยาเพียง 171 คนเท่านั้น

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ปัญหาคือ แพทย์ระบาดวิทยา หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านการป้องกันโรคระบาด ไม่ได้อยู่ในระบบของกรมควบคุมโรคเท่านั้น หลายคนหันไปศึกษาต่อ และทำงานสายเชี่ยวชาญอื่นๆแทน เห็นได้จากจำนวนที่เข้ารับราชการช่วยงานส่งเสริมป้องกันโรคติดเชื้อ โรคไม่ติดเชื้อต่างๆ มีเพียง 20 คนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ลาออก หรือไม่ก็ขอโอนไปอยู่สายงานอื่น นอกนั้นก็เกษียณอายุราชการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือ เมื่อแพทย์กลุ่มเก่าออกกันหมด ในขณะที่แพทย์ที่สนใจมาศึกษาด้านนี้ลดน้อยลงเรื่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้น

อธิบดีคร. กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่าแนวโน้มการขาดแคลนแพทย์ด้านนี้เริ่มรุนแรงขึ้น โดยสาเหตุของการขาดแคลนพบว่า 1.ลักษณะงานที่ปฏิบัติมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากแพทย์กลุ่มนี้ มีหน้าที่ในการปฎิบัติงานในพื้นที่เพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันควบคุมโรคไม่ให้กระจายมายังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โรคไวรัสต่างๆ รวมทั้งโรคอีโบลา โดยคนกลุ่มนี้จะต้องไปเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วย ทั้งสารคัดหลั่งต่างๆ รวมถึงสารเคมีตกค้าง เพื่อนำมาตรวจสอบอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระบบหรือเครื่องมือป้องกันโรค แต่ต้องยอมรับว่าระยะหลังความหวาดกลัวมีสูง 2.ความก้าวหน้าในสายงานและค่าตอบแทนต่ำ เมื่อเทียบกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งค่าตอบแทนห่างกันประมาณ 30,000-50,000 บาท ทั้งๆที่มีความสำคัญไม่แตกต่างกันเลย

"ประเด็นความก้าวหน้าในอาชีพสำคัญมาก คร.เคยมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รวม 2 ครั้ง ในปี 2553 และ ปี 2557 ขอให้ ก.พ. พิจารณากำหนดทางก้าวหน้าสำหรับแพทย์ด้านการป้องกันควบคุมโรค ให้ขอประเมินค่างานเพื่อกำหนดเป็นระดับเชี่ยวชาญได้ทุกตำแหน่งโดยไม่ต้องหาตำแหน่งว่าง ซึ่งได้ชี้แจงต่อ ก.พ.ถึงความสำคัญของแพทย์ด้านนี้ จัดเป็นแพทย์ด้านเวชกรรมป้องกันที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันแพทย์กลุ่มนี้ยังมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาแผนงานการดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันควบคุมโรค ซึ่งมีประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่ปรากฎว่า ก.พ. แจ้งว่า ตำแหน่งดังกล่าวให้ถือว่าเป็นนักวิชาการปฏิบัติงานภายในกรมฯ ไม่ถือว่าปฏิบัติงานหลักในการให้บริการด้านสุขภาพในสถานบริการหรือโรงพยาบาล การเลื่อนขั้นจึงไม่สามารถกระทำได้ ต้องรอตำแหน่งว่างเท่านั้น สรุปคือ จากปัจจัยเหล่านี้ทั้งค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในการเลื่อนขั้นจึงทำไม่ได้เลย" นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ได้เข้าหารือกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ. ) แล้ว โดยขอให้มีการพิจารณาในเรื่องค่าตอบแทนก่อน เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งดึงแพทย์ใหม่ๆเข้ามาเรียนเพิ่มเติม โดยเรื่องนี้นอกจากเงินเดือนแล้ว ควรมีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับแพทย์สาขาส่งเสริมพิเศษ และค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook