"ม.รังสิต" ผุดหลักสูตรรถไฟระบบราง ปั้นกำลังคนเสิร์ฟโครงการภาครัฐ
หลังจากปีที่แล้วเกิดแนวความคิดโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้านบาท จึงทำให้คนไทยตื่นตัวเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลใหม่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงตามมาคือ กำลังคนที่ป้อนเข้าสู่การก่อสร้างของทางภาครัฐ โดยเฉพาะระบบขนส่งทางราง ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองของหลายภาคส่วน เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และไม่มีสถาบันการศึกษาใดเปิดหลักสูตรด้านนี้โดยตรง
หลังจากนั้นไม่นาน หลายมหาวิทยาลัยขานรับกับโครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นด้วยการเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางราง รวมถึงมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่ง "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์" อธิการบดี ม.รังสิตกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังตื่นตัวเรื่องรถไฟระบบรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง อันเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียก็ตื่นตัวเรื่องนี้เช่นกัน เพียงแต่ไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่รู้เรื่องการบริหารจัดการเหล่านี้
"ม.รังสิตจึงเปิดสร้างหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟฟ้าระบบราง และหลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟระบบราง โดยได้ไปพูดคุยกับ Nihon University ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการเรียนการสอนหลักสูตรดังกล่าว พร้อมกับหารือกับกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น (JR : Japan Railway Group) โดยทั้งสององค์กรจะร่วมมือกับเราในการสร้างหลักสูตร และกำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าสัดส่วนการเรียนของนักศึกษาในการเรียนที่ไทย และไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไร อาจจะเป็นลักษณะ 2+2 หรือ 3+1"
"ดร.อาทิตย์" กล่าวอีกว่า ระยะเวลาที่นักศึกษาเรียนที่ไทยจะได้เรียนรู้วิชาทั่วไป และเชิญวิทยากรจากญี่ปุ่นมาบรรยายในบางรายวิชาเพื่อสร้างความคุ้นเคย ขณะเดียวกัน ทางคณะจะต้องเพิ่มเติมเรื่องการเรียนภาษาญี่ปุ่นให้นักศึกษาด้วย
"รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง" คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ขยายความเพิ่มเติมว่า กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมรถไฟฟ้าระบบราง และหลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟระบบราง คาดว่าน่าจะเปิดสอนในปีการศึกษา 2558 ตั้งเป้ารับนักศึกษารุ่นแรกที่ 50-60 คน โดยการเรียนที่ญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องระบบอาณัติสัญญาณหรือการควบคุมต่าง ๆ เพราะมองว่าในส่วนของงานก่อสร้างนั้นประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว
"โดยปกติแล้วในส่วนของการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จะมี 2 หน่วยงานที่ช่วยกันดู คือสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาวิศวกร ซึ่งจะจัดการศึกษาที่อิงกับใบประกอบวิชาชีพ ทำให้มีการล็อกรายวิชาที่ต้องเรียน โอกาสที่นักศึกษาจะได้เรียนรายวิชาใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องยากมาก เพราะอยู่ในกรอบและไม่ยืดหยุ่น สำหรับหลักสูตรที่กำลังจะเปิด ตั้งใจไว้ว่าจะไม่อิงกับใบประกอบวิชาชีพ เพราะยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพด้านระบบราง โดยเราจะเน้นให้นักศึกษาต้องมีองค์ความรู้อย่างรอบด้าน เพื่อได้คนที่เก่งเรื่องระบบรางโดยเฉพาะ"
นอกจากนั้น "รศ.ดร.ธรรมศักดิ์" ยังบอกอีกว่า วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ยังให้ความสำคัญถึงการเสริมจุดแกร่งนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมโยธา, เครื่องกล และไฟฟ้า ให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น โดยร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทยใน 3 ประเด็น
ส่วนแรกเป็นการปรับเนื้อหาวิชาเรียน และเพิ่มรายวิชาที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรของนักศึกษาสาขานั้น ๆ อย่างวิชาประมาณราคา วิชาสัญญา เป็นต้น โดยทั้ง 3 สมาคมจะส่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ตรงเข้ามาช่วยสอน นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายพิเศษหรือการสัมมนาในเรื่องเฉพาะทาง ซึ่งทางสมาคมจะให้ประกาศนียบัตรรับรอง ถือได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักศึกษา
"ความร่วมมือยังครอบคลุมถึงการฝึกงานของนักศึกษา 3 สมาคมจะแจ้งมาว่า บริษัทที่อยู่ในเครือข่ายมีการเปิดรับนักศึกษาฝึกงานจำนวนเท่าไร ตลอดจนมีการทำสหกิจศึกษาซึ่งจะทำให้นักศึกษาเห็นภาพการทำงานชัดเจนมากขึ้น โดยผลลัพธ์จากความร่วมมือจะเริ่มกับนักศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2557"
ทั้งหมดเป็นการเตรียมความพร้อมของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ในการติดอาวุธให้บัณฑิตมีความโดดเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานไทย และรับกับการเปิดประชาคมอาเซียนที่กำลังมาถึง