เป็น-อยู่-คือ วิถีสร้างเยาวชนฉบับ ธปท

เป็น-อยู่-คือ วิถีสร้างเยาวชนฉบับ ธปท

เป็น-อยู่-คือ วิถีสร้างเยาวชนฉบับ ธปท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

BOT Challenge & Experience เป็นโครงการพัฒนาเยาวชนไทยที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นโครงการในฝันสำหรับเยาวชนที่สนใจในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเงิน สำหรับปีนี้ได้มีการต่อยอดรูปแบบให้มีความเข้มข้นขึ้น ภายใต้ธีม BOT Challenge & Experience 2014 : ‘เป็น - อยู่ - คือ' จัดขึ้นที่สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสถานที่และบรรยากาศที่สวยงามร่มรื่น และ BOT Youth Camp ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ปลุกเร้าศักยภาพของเยาวชนไทยที่ผ่านเข้ารอบมาเป็นอย่างมาก เพราะในครั้งนี้อัดแน่นไปด้วยสาระและบันเทิง พร้อมให้ทุกคนเก็บเกี่ยวความรู้และไอเดียในการใช้ชีวิตจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงร่วมทำเวิร์กช็อปต่าง ๆ ด้วยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ มอบแนวคิดใหม่ ๆ ตามหลักการพอเพียงและตอกย้ำนิยามของคำว่า ‘เป็น - อยู่ - คือ' โดยมุ่งหวังที่จะทำให้เยาวชนไทยรุ่นใหม่มีความครบเครื่อง ‘เก่งเรื่องเรียน เซียนเรื่องการสื่อสาร ตามมาตรฐาน BOT'

หนูดี - วนิษา เรซ วางแผนแนวคิด แบบยั่งยืน

หนูดี - วนิษา เรซ มหาบัณฑิตสาวจากฮารว์ารด์ ผ้เูชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านอัจฉริยภาพ ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีซึ่งคุณหนูดี มาบอกเล่าถึงหลักการบริหาร 5 ประการสำหรับเยาวชนไทย ดังนี้


1. บริหารใจกับสมอง - ต้องคอยเตือนตัวเองให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทริคที่ดีคือ ขณะที่วิ่งก็ฟังคลิปเสียงที่อัดคำบรรยายของครูไปด้วย แทนที่จะฟังเพลง และควรรับประทานอาหารที่ไม่หวานจัด งดกาเฟอีน อย่าเริ่มต้นนิสัยดื่มกาแฟในวัยเรียนเด็ดขาด สารกระตุ้นอื่น ๆ ก็ควรงด และควรเข้านอนก่อนเที่ยงคืนเป็นประจำทุกวัน เพราะหากนอนหลับหลังเที่ยงคืน สมองจะทำงานได้น้อยลง และส่งผลต่อความจำ

2. บริหารเวลา - เปรียบได้กับการบริหารชีวิต ในแต่ละวันต้องคิดว่าจะใช้ยังไงให้คุ้มค่า โดยวิธีการง่าย ๆ ในการบริหารเวลา
ให้มีประสิทธิภาพ คือ

- ลดเวลาการใช้อีเมลและการเข้าอินเทอร์เน็ตลง กำหนดไว้เลยว่าจะทำกิจกรรมนี้วันละ 15 - 30 นาที

- ไม่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ตัดออกไปจากชีวิตได้เลย

- งดการแชท ทุกครั้งที่ทำการบ้าน ทำรายงาน อย่าให้คอมพิวเตอร์ออนไลน์อะไรไว้เลย หรือออฟไลน์แชททั้งหมดและทุ่มเททำงานให้เต็มที่ในระยะเวลา 50 นาที เพราะสมองเราจะทำงานได้ดีที่สุดในช่วง 50 นาทีแรก จากนั้นค่อยลุกไปผ่อนคลายอิริยาบถ ทำกิจกรรมต่าง ๆ สัก 15 นาที

3. บริหารข้อมูล - ชีวิตมหาวิทยาลัย จะเต็มไปด้วยข้อมูลที่มากมาย ที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ต้องจำ ต้องตอบคำถามต้องสอบ ถ้าเรารับมือกับข้อมูลได้ ชีวิตเราจะสุดยอดมากอย่าตกใจมากเกินไปกับข้อมูล ตั้งสติ และจัดระบบข้อมูลให้ดี

4. บริหารร่างกายและสุขภาพ - ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราต้องหาเวลาออกกำลังกายให้ได้ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้งเพราะทุกครั้งที่เราออกกำลังกาย สมองเราจะทำงานได้ดีขึ้น แล้วเราจะไม่รู้สึกง่วงนอนในห้องเรียน และไม่ว่าจะไม่มีเวลาขนาดไหนก็ต้องออกกำลังกาย เพื่อให้สมองกับร่างกายเหนื่อยเท่ากันแล้วเราจะหลับง่าย นี่เป็นเคล็ดลับที่ง่ายที่สุด

5. บริหารเงิน - บางคนเรียนดี เรียนเก่ง จบเกียรตินิยมทำได้ทุกอย่างในเรื่องงาน แต่บริหารเงินในชีวิตไม่ได้ ทำธุรกิจก็ล้มละลาย เพราะไม่สามารถดูแลเงินที่ตัวเองหามาได้

"ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันเป็นวงจร ถ้าทำได้ ชีวิตเราจะสมบูรณ์แบบมากเป็นการใช้ชีวิตที่ดีและยั่งยืน ห้ามพลาดแม้แต่เรื่องเดียว ถ้าทำได้ ผลที่ได้รับคือ เรียนจบได้เกรดดี มีอาชีพที่ทำตามความฝันของตัวเองได้ สามารถใช้ชีวิตแบบที่เราฝันไว้ เริ่มตั้งแต่มัธยมดีที่สุด อย่ารอให้ถึงมหาวิทยาลัย เพราะกว่าจะถึงวันนั้นอาจสายเกินไปแล้ว"สุดท้ายคุณหนูดีเน้นย้ำว่า หากเรารู้จักวางแผนแนวคิด ก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนได้

สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ คิดเล่น ๆ ก็เป็นเงิน

ด้วยพื้นฐานของการเป็นสถาปนิก ทำให้คุณสเริงรงค์ ลูกชายคนเล็กของคุณ'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2538มักหยิบจับสิ่งของรอบตัวมาประดิษฐ์เป็นข้าวของเครื่องใช้อยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่งก็ทำกระเป๋าจากยางในรถยนต์ออกมา แล้วนำไปอวดเพื่อน เพื่อน ๆก็อยากได้มาขอกันเต็มไปหมด จากนั้นก็ได้รับแรงยุให้ผลิตออกมาขายโดยเริ่มต้นจากแฟนเพจในเฟซบุ๊ค และไม่คิดมาก่อนว่าจะกลายมาเป็นธุรกิจ ‘กระเป๋าอีโค' ยอดนิยมได้ขนาดนี้ เพราะนอกจากจะฮอตฮิตในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ หัวใจรีไซเคิลแล้ว ยังโด่งดังไกลถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย

"ปัจจัยที่ทำให้ Rubber Killer ประสบความสำเร็จ คือ วัตถุดิบที่ไม่เหมือนคนอื่น ยางในรถยนต์ก็เป็นยางในรถยนต์ที่ใช้แล้ว ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีลวดลายไม่เหมือนกันยิ่งทำให้มีความโดดเด่น และมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ทำให้ไม่มีคู่แข่งในตลาด แม้กระบวนการผลิตจะไม่ง่าย เพราะกว่าจะได้ชิ้นงานที่ดีและสะอาด ต้องล้างกันถึง 5 ขั้นตอนเลยทีเดียวและผมจะใส่คีย์เวิร์ดในการออกแบบไปว่า โลกนี้นะมีคนขายกระเป๋าประมาณ 450 ล้านคนเลยมั้งแต่เราต้องมีมุมมองที่แตกต่าง มองให้เห็นความงามของวัตถุดิบ ทำยังไงให้สวย ต้องผ่านขั้นตอนการตัดเย็บแบบไหน เน้นความเนี้ยบ ของเก่าเอามาใช้ใหม่ก็ทำให้เนี้ยบได้ ไม่ต้องเขรอะเสมอไป ผมไม่ชอบความหยาบถ้าดูเผิน ๆ อาจดูไม่ออกด้วยซ้ำว่าทำจากยางในรถยนต์ นั่นจะทำให้เขาควักเงินสองพันบาทมาซื้อสินค้ารีไซเคิล และได้ความทนทานในการใช้งานกลับไปเป็นของแถม แต่จะแย่หน่อยตรงที่พอเขาซื้อไปแล้ว จะไม่กลับมาซื้อใบที่สอง เพราะมันไม่พังเสียที"

ปัจจุบัน Rubble Killer มีกระเป๋าราว 30-40 แบบ ทั้งกระเป๋าสตางค์กระเป๋าถือ กระเป๋าไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงและผู้ชาย แบรนด์ที่ถือกำเนิดจากจังหวัดเชียงใหม่นี้ มีลูกค้าประจำไม่น้อย ที่ตามซื้อตามเก็บทุกรุ่นเพราะความชอบส่วนตัว ซื้อไปสะสมเป็นคอลเลคชั่น และนอกจากรุ่นที่ทำจากยางในรถยนต์แล้ว ยังมีรุ่นที่ทำจากวัตถุดิบอื่น ๆ อีก นั่นคือถุงนมผง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

ทั้งนี้ การกลั่นความคิดจนเป็นตัวตนของผู้ชายที่ชื่อว่า สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ ส่วนสำคัญเกิดจากการแสวงหาแรงบันดาลใจจากการเดินทางซึ่งไม่ได้หมายถึงการท่องเที่ยวเท่านั้น

"แค่เดินออกจากบ้านไปหน้าปากซอยก็คือการเดินทางแล้ว เราอาจเจอใบไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ริมถนน แล้วก็มองเพราะรู้สึกว่ามันสวยดีจะเก็บเอาไปทำอะไรดีนะ ผมเป็นคนชอบเดินทาง ชอบถ่ายรูป เชื่อสิว่าตามถนนหนทางมีแรงบันดาลใจอยู่เต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์บนยอดเขาหรอก และบางครั้งแรงบันดาลใจอาจเกิดจากปัญหาและคำถามก็ได้ เช่น ผมทำกระเป๋าเป้สำหรับนักเดินทางที่ใส่แล็ปท็อปขึ้นมา เพราะเกิดคำถามกับตัวเองว่า ผมอยากได้กระเป๋าแบบนี้"

ปัญหาและอุปสรรคสำหรับคุณสเริงรงค์ยังหมายถึงความท้าทายที่จะต้องก้าวผ่านให้พ้น และเอาชนะมันให้ได้ เหมือนเมื่อแรกเริ่มธุรกิจที่ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด ซึ่งหากละความพยายาม ก็คงไม่มี Rubber Killer ในวันนี้

"ยางในรถยนต์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการตัดเย็บ แต่ถูกออกแบบเพื่อบรรจุลมและขับเคลื่อนรถ เพราะฉะนั้นไม่เคยมีใครที่เคยเย็บยางมาก่อน ตอนแรก ๆ ผมก็รู้สึกว่าทำไมมันเย็บยากจัง ก็เริ่มท้อใจไม่เป็นไร ถ้าเย็บไม่ได้ ก็กลับไปเป็นสถาปนิกอย่างเดิม ออกแบบบ้านเหมือนเดิม แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบเอาชนะ เลยเกิดแรงฮึดขึ้นมาว่าต้องทำได้สิจากนั้นก็เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ เช่น ต้องใช้จักรประเภทไหน ต้องปรับเปลี่ยนฝีเข็ม อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะเอาชนะมันให้ได้ ผมไม่มองปัญหาเป็นอุปสรรค แต่ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องเอาชนะ ซึ่งเรื่องนี้นำไปปรับใช้ได้กับทุก ๆ เรื่องในชีวิต"

นอกจากนี้ในฐานะเจ้าของกิจการ คุณสเริงรงค์บอกว่า ในการทำธุรกิจอย่าคำนึงแต่ผลกำไร แต่ควรดูแลคนที่ทำงานกับเราให้ดีด้วย ซึ่งเป็นหลักการที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน "หัวหน้าช่างของ Rubber Killer เงินเดือนเยอะกว่าสถาปนิกอีก ทำไมล่ะ ช่างเย็บผ้าต้องจนหรือ? เราต้องเคารพในวิชาชีพของเขา เขาต้องอยู่ได้ ต้องมีรายได้ที่ดี ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่มีแบรนด์ ไม่มีเงิน"

คุณสเริงรงค์ยังมีคำแนะนำฝากถึงน้อง ๆ เยาวชนที่อยากจะยึดอาชีพการออกแบบว่า ทุกอย่างที่ออกแบบมาต้องขายได้ ทำตัวให้เป็นดีไซเนอร์ ไม่ใช่ศิลปิน

"ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่มีข้าวกิน เราต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน"

ส่วนมุมมองเกี่ยวกับความพอเพียง คุณสเริงรงค์ให้คำตอบว่า ความพอเพียงสำหรับแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน สำคัญที่ว่าพอเพียงแล้วสร้างตัวตนของเราได้ เช่นเดียวกับที่เขาสร้างผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ ด้วยการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป จริงอยู่ ‘เงิน' ใคร ๆ ก็อยากได้ แต่ไม่จำเป็นต้องรีบ

"ผมไม่เชื่อคำว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะบางทีรีบตักอาจจะตกลงไปในคลองเลยก็ได้ ผมเชื่อในการเติบโตอย่างมั่นคง ค่อยเป็นค่อยไปหลายครั้งที่ต้องแคนเซิลออร์เดอร์ลูกค้าต่างประเทศ เพราะถ้าเร่งทำก็จะได้งานที่ไม่มีคุณภาพ ได้ไม่คุ้มเสีย เขาก็จ้างเราแค่ครั้งเดียว และไม่กลับมาสั่งอีกเลย"

สุดท้ายคุณสเริงรงค์มีคำแนะนำให้กับน้อง ๆ ว่า "ถ้าอยากทำอะไรก็ต้องลงมือทำ คิดได้ก็ทำเลย แต่ว่าก่อนหน้าที่จะทำ ย้อนกลับไปว่าก่อนที่จะทำต้องคิดให้รอบคอบ วางแผนให้ดี ศึกษาหาข้อมูล แล้วก็ลงมือทำอย่าแค่วางแผนแล้วก็ทิ้งไว้บนอากาศ คนที่ทำได้คือคนที่ลงมือทำแล้วคนที่ทำได้ก่อนก็สำเร็จก่อนเสมอ ที่สำคัญคืออย่าเอาเปรียบคนอื่นถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ อยากมีเงิน มันไม่ยากหรอก ไม่ยากเลยแต่ทำยังไงให้มีเงินแล้วเท่ มีเงินแล้วไม่ไปกดหัวคนอื่น ไม่เอาเปรียบคนอื่น เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้โดยไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์"

จิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ความสุขหลากรส

เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ธปท. ได้ต้อนรับนักเรียนนอกคนเก่ง ที่มีดีกรีปริญญาตรีและปริญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics และ Oxford University ทั้ง ๆ ที่ความตั้งใจในเบื้องต้นคุณจิรเทพอยากจะเดินตามความฝันเพื่อทำงานในธุรกิจบันเทิง และเขาคือหนึ่งในคนที่ทำให้ภาพลักษณ์หนุ่มแบงก์แตกต่างไปจากที่เรา ๆคุ้นเคย ด้วยบุคลิกการแต่งตัวที่ทันสมัย โก้ และเท่ คุณจิรเทพได้ยกบทเรียนชีวิตและประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ในฐานะ ‘ลูกหม้อ'ของ ธปท. มาแบ่งปันให้น้อง ๆ เยาวชน ให้เกิดแรงบันดาลใจ และเข้าใจถึงหลักการการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและเป็นสุข

"ที่ผ่านมาเราเข้าใจกันว่าพอเพียงคือใช้ให้น้อย หรือสมถะ คือการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย แต่สมถะ แปลว่า สมฐานะ หมายความว่า เรามีทรัพยากรตรงนั้นเท่าไหร่ เราก็ใช้ทรัพยากรให้เต็มที่ เหมือนเราไปเที่ยวภูเขา วิวที่ดีที่สุดคือวิวที่อยู่ปากเหว เพราะเห็นทั้งข้างล่าง เห็นทั้งตรงกลาง เห็นทั้งข้างบน แต่ทีนี้เราไปอยู่ปากเหวแบบไม่มีที่เกาะอะไรเลย โอกาสจะร่วงลงไปก็มีสูง เพราะฉะนั้นเราจะถอยหลังแค่ไหนจากปากเหวโดยที่ยังเห็นวิวนั้นอยู่ ในบางที่ที่ทางเดินมันขรุขระ เราก็อาจจะต้องถอยมาหน่อย ไปเดินในที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย อาจจะอยู่ใกล้ปากเหวมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นพอเพียงในที่นี้คือทำให้เต็มศักยภาพแต่ต้องมีความสมดุลด้วย ไม่ใช่ชนะอย่างเดียว สำเร็จอย่างเดียวแต่ต้องมีความสุขด้วย"

คุณจิรเทพขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตครบรส ด้วยความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เป็นรองใคร ทั้งยังชื่นชอบในงานศิลปะ ชอบงานเขียนหนังสือ และมีไลฟ์สไตล์ที่รุ่มรวย ซึ่งถือเป็นสมดุลชีวิตที่ดี และเป็นเรื่องราวอีกส่วนหนึ่งของชีวิตที่ก่อให้เกิดความสุข

"เมื่อวันหนึ่งที่เราอยู่สู่จุดสูงสุดของความสำเร็จแล้ว สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดเลยก็คือ ความสวยงามและความสุข ดังนั้น เราต้องทำตัวเหมือนฟองน้ำ พร้อมที่จะซึมซับสุนทรียภาพต่าง ๆ ถ้าเราขาดความสามารถในส่วนนี้ ชีวิตเราก็ไม่มีความสุขเลย ถึงผมจะจบเศรษฐศาสตร์มาทำงานที่ ธปท. ที่แรกจนถึงปัจจุบัน แต่ผมก็มีเพื่อนในแวดวงอื่น ๆมีเพื่อนเป็นศิลปิน เป็นนักดนตรี เป็นนักเขียน ผู้ใหญ่ที่ ธปท. จะชอบล้อผมว่าจริง ๆ แล้วผมเรียนจบเศรษฐศาสตร์การละครมา เพราะถึงจะเรียนจบเศรษฐศาสตร์ แต่มีหน้าที่เขียนสุนทรพจน์ให้ผู้ใหญ่ แล้วก็มีหน้าที่ติดตามเหมือนทหารคนสนิท ที่ถูกล้อแบบนี้ เป็นเพราะว่าผมพูดเยอะ เขียนเยอะ และมีดราม่าในบางมิติ"

ล่าสุดหน้าที่ที่ทำและบทบาทอันภาคภูมิใจที่คุณจิรเทพได้รับกับตำแหน่ง ‘โฆษก ธปท.' คือ ตัวอย่างที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า หากเรามีความครบเครื่อง ดีพร้อมในแบบของเราแล้ว ก็สามารถนำพาเราไปสู่หลักชัยได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

"อยากให้เรามีชีวิตที่หลากหลาย ไม่อยากให้รู้สึกว่าพอทำงานที่ ธปท. แล้ว จะต้องแข็ง จะต้องเนิร์ด แต่ขอให้มั่นใจว่าดีพร้อม อาจจะก้าวผิดบ้าง ล้มบ้างก็ได้ ไม่เป็นไร แล้วความสำเร็จจะเป็นของขวัญชิ้นเอก อย่างผมก็มีความฝันเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าอยากเป็น โฆษก ธปท.เพราะเวลาเห็นผู้ใหญ่ออกทีวีให้สัมภาษณ์ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะทำหน้าที่เป็นตัวแทน ธปท. ตอนนี้ความฝันเป็นจริงแล้ว ก็ยังรู้สึกอึ้งอยู่"

สำหรับ ‘เป็น-อยู่-คือ' ของ BOT Youth Camp ในครั้งนี้ คุณจิรเทพแสดงทัศนะที่น่าสนใจว่า ‘เป็น' หมายถึง เราอยากจะเป็นอะไร อยากมีบทบาทอย่างไร อาจจะลองเล่นหลายบทบาท โดยที่อารมณ์พาไปแต่ก็มีหลักการกำกับไว้ และบทบาทก็ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เมื่อเปลี่ยนเพลง ท่าเต้นก็ต้องเปลี่ยน เพราะฉะนั้นไทม์มิ่งเป็นสิ่งสำคัญความผิดพลาดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ว่ายุคใดสมัยใด เป็นเพราะว่าเปลี่ยนเพลงแต่ไม่ได้เปลี่ยนท่าเต้น ไม่ได้เปลี่ยนบทบาทไปในเวลาที่เหมาะสม

"เหมือนกับแฟชั่นมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราก็ยังใส่ชุดเดิมอยู่ก็ตกยุคไปเป็นเรื่องธรรมดา"

ส่วน ‘อยู่' คุณจิรเทพอธิบายว่า เราจะอยู่อย่างไร อยู่แบบเยอะอยู่แบบน้อย อยู่แบบพอเพียง ความยากที่สุดของการอยู่ คือ การเที่ยวไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะจะทำให้เราอยู่ไม่เป็นสุข

"ธปท. สอนผมในเรื่องนี้เยอะมาก เพราะที่นี่มีแต่คนเก่ง ๆ และมีการแข่งขันสูงมาก แต่จากการที่อดีตผู้ว่าการ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุลได้มอบทุนให้ผมไปเรียนที่ Harvard's John F. Kennedy School of Government ยิ่งทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรเพิ่มอีกเยอะ เพราะทุกคนเก่งหมดเหมือนกัน จะอยู่ร่วมกันอย่างไร เขาก็เก่ง เราก็เก่ง แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้การอยู่กับคนเก่งแล้วเราเสริม โดยที่เราไม่ได้รู้สึกด้อย เพราะเราก็เก่งในมิติของเรา เราทำในแบบที่ดีที่สุดของเรา"

คุณจิรเทพได้เพิ่มเติมมุมมองในการใช้ชีวิตให้มีความสุขผ่านคำว่า ‘คือ' ดังนี้ "คือก็คือตัวเรานี่แหละ ต้องเรียนรู้ที่จะให้ เริ่มแรกอาจจะให้แบบแลกเปลี่ยน พอโตขึ้นก็เรียนรู้ที่จะให้โดยไม่คาดหวังจะได้อะไรกลับคืนมา สุดท้ายแล้วเราจะทิ้งอะไรไว้ให้กับองค์กร กับเพื่อน ๆ กับคนรอบข้าง มันคือการสานสัมพันธ์ เพราะเราเป็นมนุษย์ และมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีเรื่องของการเอื้ออาทรและแบ่งปัน"

นอกจากนี้ คุณจิรเทพยังบอกเล่าถึงประสบการณ์ในรั้วฮาร์วาร์ดที่น่าสนใจอีกว่า "ผมไปเรียนที่ฮาวาร์ดก็ครึ่งชีวิตแล้ว พอครึ่งชีวิต เขาก็ให้เขียนบั้นปลายชีวิตแล้ว ว่าถ้าเราตายจะให้คนอ่านหน้างานศพว่ายังไงเขาให้เราเลือกด้วยว่าจะให้ใครอ่าน และให้เลือกคนที่ถ้ามีชีวิตอยู่หลังจากเรา เราก็ต้องเลือกเพื่อนหรือคนที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาและเราต้องเขียน แต่ไม่ได้เขียนเพื่อตัวเองนะ แต่เขียนเพื่อเพื่อนคนนั้นตอนนั้นผมอายุ 33 ปี พอสิบปีผ่านไป กลับมาอ่าน เออ! มันก็ไม่หนีกันไปมากนะ จากที่เคยเขียนว่าถ้าตายตอนอายุ 33 ปี เราจะพูดว่ายังไงกับถ้าตายตอนประมาณนี้ก็ใกล้เคียงกัน"

สุดท้ายคุณจิรเทพทิ้งท้ายถึงการเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาเพื่อฝากเป็นข้อคิดให้น้อง ๆ นำไปพิจารณาถึงการเลือกเส้นทางชีวิตในอนาคตของตัวเองว่า

"ถ้าให้เลือกวันนี้นะ ไม่อยากไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกโอเค เรารู้ว่าสาขาที่เราจะเรียนของมหาวิทยาลัยมันก็ดีที่สุดที่เราจะไปได้แต่เราไม่ต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดขนาดนั้น เราอาจจะมีชีวิตที่มีความสุขกว่านี้ เราอาจสนุกมากกว่านี้ตอนเป็นเด็ก เราอาจจะสั่งสมความสุขได้มากกว่านี้ แต่นับว่าผมโชคดีที่เติบโตในหน้าที่การงานโดยเฉพาะช่วงหลังที่ถือว่าเป็นการขึ้นเขาที่เร็วมาก โดยที่ไม่ได้เพลิดเพลินกับวิวสวย ๆ รอบข้างเลย ก็เป็นยอดเขาที่สูงประมาณหนึ่งแต่ถ้าปีนขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุด ก็รู้สึกว่าสูงเกินไป เราจะไม่เห็นวิวทุ่งหญ้า

"ที่สำคัญอย่าประเมินตัวเองด้วยความสำเร็จครั้งแรกเท่านั้นถ้าพลาดก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจบสิ้นแล้ว เหมือนแฟนคนแรกก็ไม่ใช่แฟนคนสุดท้าย เพราะฉะนั้นอย่ายอมแพ้ คนรุ่นใหม่มักจะกำหนดความสำเร็จไว้ในเวลาเท่านี้ อายุเท่านี้ ถ้าเด็กทุกคนคิดแบบนี้ แล้วเกิดทั้งประเทศมีคนประสบความสำเร็จแค่ 10% แล้วอีกหลายล้านคนที่พ่ายแพ้ล่ะจะไปอยู่ที่ไหน ประเทศชาติจะอยู่ยังไง ผมก็อยากฝากให้น้อง ๆ คิด คิดให้ลึก ๆ คิดให้ยาว ๆ และก็ขอให้ประสบความสำเร็จกันทุกคน และไม่แน่ว่าจะมีผู้ว่า ธปท. อยู่ในโครงการนี้"

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก BOT Magazine download อ่านฟรีผ่าน Mobile Application ได้ที่ http://goo.gl/baEAuP

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่   

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook