"ตีสนิท" พลังขับเคลื่อนโลก "เจนวาย"
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
โลกเปลี่ยนไปแล้ว เห็นวัยรุ่นสมัยนี้ทำอะไรแปลกๆ อย่าเพิ่งตกใจ เห็นลูกไม่ทนไม่แกร่งเหมือนตนเองสมัยก่อนอย่าท้อใจ เพราะทั้งหมดคือธรรมชาติของเขา ฉะนั้น มาทำความเข้าใจวัยรุ่นที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสังคม ซึ่งเป็น "คนเจนเนอเรชั่นวาย" กัน
ผศ.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า เจนเนอเรชั่นวาย เป็นผู้เกิดระหว่างปี 2525-2546 หรือปัจจุบันเป็นผู้มีอายุระหว่าง 11-32 ปี มีช่วงระดับการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อุดมศึกษา และวัยทำงานช่วงแรก เจนวายปัจจุบันมีจำนวนสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งโลก สำหรับประเทศไทยมี "ประชากรเจนวาย" จำนวน 18 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของประชากรทั้งประเทศ
"เจนวายในปัจจุบันเริ่ม มีบทบาทมากขึ้น เพราะอยู่ในวัยทำงานเริ่มแรกและวัยกำลังเจริญพันธุ์ ทำให้สังคมเริ่มให้ความสำคัญและสนใจว่า เจนเนอเรชั่นนี้ทำไมถึงมีแนวทางดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้เกิดจากสภาพแวดล้อมลักษณะที่แตกต่าง ทั้งจากเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งหลอมรวมแต่ละเจนเนอเรชั่นไว้"
ผศ.ภูเบศร์เผยว่า สิ่งพิเศษของเจนเนอเรชั่นวายคือ คนเจนวายแต่ละพื้นที่ในโลกมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แม้ยังไม่มีงานวิจัยชัดเจนว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่สันนิษฐานได้ว่าเกิดขึ้นได้เพราะมีสิ่งเชื่อมจากโลกาภิวัตน์ ที่คนแต่ละภูมิภาคสามารถเชื่อมโยงด้วยโลกไซเบอร์ รวมถึงการเดินทางไปมาหากันได้ง่ายขึ้น เหล่านี้ทำให้ลักษณะการดำเนินชีวิตของคนเจนวายคล้ายคลึงกัน
ผศ.ภูเบศร์ สมุทรจักร
ส่วนลักษณะโดดเด่นของคนเจนวายเป็นเรื่องของความเป็นตัวของตัวเอง ให้เกียรติกับความเป็นตัวของตัวเอง ตัวเองใหญ่ขึ้น เสียงของตัวเองดังมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปลูกฝังจากคนเจนเนอเรชั่นบี หรือเบบี้บูม (พ.ศ.2468-2503) คือพ่อแม่ และเจเนอเรชั่นเอ๊กซ์ (พ.ศ.2504-2524) คือครู ซึ่งจะปลูกฝังเสมอว่าต้องค้นหาตัวเอง ให้เรียนในสิ่งที่ชอบและรัก ไม่ฝืนเพื่อให้ลูกมีความสุข
"คนเจนวายเป็นคนที่พยายามค้นคว้าหาตัวเอง เขาไม่ได้เรียนเพื่ออยากมีงานที่มั่นคงทำ แต่เรียนเพราะชอบและรัก"
ผศ.ภู เบศร์เผยว่า นอกจากนี้ คนเจนวายยังมีลักษณะจับจ่ายใช้สอยโดดเด่น เนื่องจากเติบโตในช่วงพาณิชย์ระดับบุคคลโตขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าเติบโตมาพร้อมสินค้าที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการและมีจำนวนมาก ไม่เหมือนคนยุคก่อนที่จำนวนสินค้าไม่เยอะมาก ทั้งนี้ ก็ทำให้คนเจนวายใช้เงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยสินค้าเยอะ ไม่ว่าจะมีรายได้ระดับไหนก็ตาม
"เวลามีรายการที่อยากซื้อมากและชอบ ชีวิตอิสระมาก ก็ทำให้คนเจนวายไม่อยากมีพันธะในการเลี้ยงดูคนนั้นคนนี้รวมถึงการแต่งงานมี ลูก ยิ่งเมื่อรวมกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมในปัจจุบัน ยิ่งทำให้คนเจนวายตั้งคำถามว่าจะมีบุตรไปเพื่ออะไร หรือหากต้องมีก็ขอมีเพียงคนเดียว กระทั่งไม่อยากมีบุตรเลย"
ในส่วน ของการทำงาน ผศ.ภูเบศร์เล่าว่า คนเจนวายเร่งอยากประสบความสำเร็จเร็วๆ อยากเป็นตัวของตัวเองเร็วๆ อยากมีอิสระ ไม่อยากอยู่ในองค์กรที่ตนเองต้องไต่เต้าใช้เวลานาน เพราะกว่าจะอยู่ในตำแหน่งระดับกลางหรือขยับสู่ระดับสูงได้ก็ใกล้เป็นผู้สูง อายุแล้ว ฉะนั้นคนเจนวายรับกับองค์กรลักษณะนี้ไม่ได้ จึงมีแนวโน้มไปหาอาชีพอะไรที่ถนัด อาชีพที่หาเงินง่ายและเร็ว และมีเวลาพักผ่อนมากกว่า
ผศ.ภูเบศร์เผยเสริมว่า คนเจนวายให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว ซึ่งมีความแตกต่างจากเจนเอ๊กซ์และบีในหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเจนเอ๊กซ์และบีที่ถูกปลูกฝังเรื่องความมั่นคงของชีวิต ซื้อบ้านก่อนค่อยซื้อรถ เพราะบ้านเป็นทรัพย์สิน ส่วนเจนวายซื้อรถก่อนซื้อบ้าน เพราะรถจำเป็นทั้งเพื่อแสดงฐานะ สัญจรไปทำงาน ส่วนบ้านอยู่หลังเล็กแบบคอนโดก็ได้เพราะอยู่กันไม่กี่คน
แม้จะเป็นคนรักอิสระมาก ให้ความสำคัญกับตัวเองสูง แต่คนเจนวายก็ไม่ทิ้งความเป็นพลเมือง
"เจน วายเป็นเจนที่เปิดสู่โลกข้อมูลข่าวสารมาก เขาจะมีส่วนร่วมกับความเป็นไปในสังคมสูง โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะเริ่มเห็นบทบาทผ่านการโพสต์คลิป การแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่แรงๆ ส่วนใหญ่เป็นเจนวายทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่เขาคิดและแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เขาจึงโพสต์แรงๆ อย่างนี้ จนคนเจนเอ๊กซ์หรือเจนบีรู้สึกตกใจว่า โพสต์แบบนี้ไม่กลัวคนอื่นว่า เจ้านายจะว่า หรือไม่กลัวผลกระทบบ้างหรือ ความเป็นพลเมืองของคนเจนวายน่าจับตามอง เขามีข้อมูลและมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น มีช่องทางให้แสดงความคิดเห็นมากขึ้นโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย"
ผศ.ภู เบศร์เผยว่า สังคมต้องการการตรวจสอบ ซึ่งผมเห็นด้วย ยิ่งแชร์ข้อมูลจะยิ่งทำให้คนเห็น และข้อมูลนั้นจะยิ่งชัดเจนขึ้น เพียงแต่เจนวายต้องมีวิจารณญาณการแสดงความเห็นจะดีมาก
"นี่เป็นความ แตกต่างที่แต่ละเจนเนอเรชั่นต้องปรับเข้าหากัน เจนวายไม่ใช่เจนที่ผิดเสียหมด ก็อยากให้นำจุดแข็งแต่ละเจนออกมาแสดงศักยภาพมากที่สุด" ผศ.ภูเบศร์กล่าว
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน