ทดลองปลูกผักสลัด บน "ดาวอังคาร"

ทดลองปลูกผักสลัด บน "ดาวอังคาร"

ทดลองปลูกผักสลัด บน "ดาวอังคาร"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ เตรียมการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำโครงการพิเศษสำหรับนำไปใช้ในการตั้งอาณานิคมแห่งแรกของมนุษย์บนดาวอังคาร เป็นโครงการเดียวจากประเทศอังกฤษที่ได้รับเลือกให้มีโอกาสได้รับการคัดสรรให้รวมไปกับสัมภาระซึ่งยานอวกาศ "มาร์ส วัน" ที่กำหนดจะไปร่อนลงบนดาวอังคารให้ได้ภายในปี 2018 นี้

โครงการดังกล่าวคือโครงการปลูกผักกาดหอมในเรือนกระจกสำเร็จรูป ที่พร้อมจะนำขึ้นไปติดตั้งและทดลองบนพื้นผิวดาวอังคาร โดยมี ซูซานนา ลูคาร็อตติ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำกับดูแลโครงการที่ใช้ชื่อว่า "เลตทิวซ์ออนมาร์ส"

โครงการดังกล่าวประกอบด้วย ตัวเรือนกระจกขนาดกะทัดรัดซึ่งติดตั้งระบบวิศวกรรมล้ำสมัย อาทิ ระบบปรับแรงดันด้วยก๊าซ ระบบคุ้มครอง ระบบให้น้ำและอาหารแก่พืชอัตโนมัติ เป็นต้น

เมื่อแล้วเสร็จทีมวิจัยคาดหวังว่าจะได้เรือนกระจกสำหรับปลูกผักกาดหอมโดยไม่ใช้ดิน ขนาดกะทัดรัด ภายในมีเมล็ดพันธุ์, น้ำ, อาหารพืช, ระบบสำหรับควบคุมอุณหภูมิและระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจสอบการเติบโตของพืช

ระหว่างการเดินทาง ระบบดังกล่าวจะถูกปิดการทำงานให้หลงเหลือส่วนที่ทำงานอยู่น้อยที่สุด โดยที่เมล็ดพันธุ์จะอยู่ในสภาพถูกแช่แข็ง ต่อเมื่อยานสามารถลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้โดยปลอดภัยแล้ว ยานมาร์ส วัน จะจ่ายพลังงานกระตุ้นให้เรือนกระจกนี้ทำงานและให้ความอบอุ่น รักษาอุณหภูมิให้อยู่ที่ระดับ 21-24 องศาเซลเชียส คาร์บอนไดออกไซด์ที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืชจะถูกสกัดจากบรรยากาศของดาวอังคาร นำมาผ่านกระบวนการก่อนป้อนเข้าสู่ห้องเพาะปลูก มีระบบหัวฉีดที่จะทำหน้าที่เป็นสเปรย์น้ำ และอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตให้กับผักกาดเป็นระยะๆ

เมื่อสภาวะแวดล้อมภายในเรือนเพาะปลูกอยู่ในสภาพที่เหมาะสม ผักก็จะเริ่มเจริญเติบโตจนเต็มที่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะถ่ายทอดภาพการเติบโตดังกล่าวส่งกลับมายังโลก

เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามที่คาดหมาย ระบบควบคุมอุณหภูมิจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุด เพื่อทำลายสิ่งมีชีวิตรวมทั้งพืชในเรือนกระจกทดลองนี้ทั้งหมด

แต่เท่านั้นก็เป็นการพิสูจน์ได้แล้วว่า ระบบที่ทำขึ้นสามารถเพาะปลูกพืชให้เป็นอาหารในการตั้งอาณานิคมบนดวงดาวอื่นในอนาคตได้หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook