เล็งยกร่างหลักสูตรปวส.ใหม่ หวังดึงเด็กม.6 เข้าเรียนเพิ่ม
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2558 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีแผนเพิ่มจำนวนผู้เรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการช่างฝีมือแรงงานของภาคอุตสาหกรรม โดยกำลังเตรียมยกร่างหลักสูตร ปวส. ใหม่ เพื่อรองรับเด็กที่จบจากชั้น มัธยมศึกษาปีที่6 จะได้ไม่ต้องเรียนเก็บหน่วยกิตเพิ่มเติมจากผู้เรียนที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) อีก 19 หน่วยกิตเหมือนปัจจุบัน ซึ่งการเรียนเพิ่มมากกว่าเด็กที่จบจาก ปวช. เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กจบ ม.6 ไม่เลือกที่จะมาเรียนต่อ ปวส. ดังนั้นในปีการศึกษาหน้าหลักสูตร ปวส. จะมีทั้งหลักสูตรสำหรับเด็กจบ ม.6 และหลักสูตรสำหรับเด็กที่จบปวช.มา
"เด็กที่ผ่านการเรียนระดับปวช.มาจะได้เรียนวิชาชีพเยอะ แต่เรียนวิชาสามัญน้อย ขณะที่เด็กจบจากชั้น ม.6 จะได้เรียนวิชาสามัญเยอะ แต่เรียนวิชาชีพน้อย ดังนั้นหลักสูตรปวส.ใหม่ จะเติมเต็มความรู้ในส่วนที่เด็กทั้ง 2 กลุ่มยังขาดอยู่ และเด็กจะใช้เวลาเรียนเท่ากัน ส่วนจะจัดสอนแบบแยกหรือรวมเด็กทั้ง 2 กลุ่มนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานศึกษาว่าจะจัดแบบใด ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน"
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า สำหรับยอดผู้เรียน ปวส.ในสถานศึกษาสังกัด สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ปัจจุบัน มีประมาณ 1.5 แสนคน โดยเป็นเด็กที่จบจากชั้น ม.6 ประมาณ 20% ส่วนที่เหลือเป็นเด็กที่จบ ปวช. ขณะที่มีผู้จบชั้น ม.6 ทั่วประเทศประมาณ 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้เลือกเรียนต่อปริญญาตรีมากถึง 1.7 แสนคน และมีผู้ที่ตัดสินใจออกมาทำงานอีกจำนวนหนึ่ง เชื่อว่าเมื่อมีหลักสูตรปวส.ที่รองรับเด็กทุกกลุ่มได้ ก็จะดึงดูดให้เด็กหันมาเรียนต่อปวส.มากขึ้น รวมถึงกลุ่มที่ตัดสินใจออกไปทำงานได้กลับมาเรียนเพิ่มวุฒิการศึกษาด้วย