แท็บเล็ตกระตุ้นการอ่าน คำถามที่ต้องหาคำตอบ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีรายงานการสำรวจใหม่ชิ้นหนึ่งโดยภาคีการรู้หนังสือแห่งชาติของอังกฤษ (เอ็นแอลที-เนชั่นแนล ลิตเทอเรซี ทรีสต์) ร่วมกับเพียร์สัน บริษัทธุรกิจการศึกษาระดับโลก ที่ได้ข้อสรุปว่าแท็บเล็ตและเทคโนโลยีทัชสกรีนกระตุ้นให้เด็กอ่านหนังสือมากขึ้นและรู้คำศัพท์มากกว่า โดยเฉพาะเด็กผู้ชายและเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน
แฟ้มภาพ
ผลการสำรวจของเอ็นแอลทีพบว่า ในเด็กวัย 3-5 ขวบ แท็บเล็ตช่วยกระตุ้นการอ่านของเด็กได้มากกว่าหนังสือกระดาษ สอดคล้องกับผลการสำรวจครั้งก่อนหน้าเมื่อต้นปีจากพ่อแม่ประมาณ 1,000 ครอบครัว
เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนสามารถอ่านจากแท็บเล็ตได้นานกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดีมีสัดส่วนมากกว่าถึงสองเท่า หรือร้อยละ 29.5 ต่อ 17.4 ขณะเดียวกันก็ใช้มันสำหรับกิจกรรมทางด้านการศึกษามากกว่าเพื่อความบันเทิงในสัดส่วนร้อยละ 43.2 ต่อ 30.4
ผลการศึกษานำไปสู่คำแนะนำว่า เทคโนโลยีทัชสกรีนอาจจะใช้เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับการรู้หนังสือต่ำสำหรับกลุ่มเป้าหมายได้ และสื่อบางสำนักอาจจะสรุปไปไกลถึงการแนะนำให้ผู้ปกครองใช้แท็บเล็ตกระตุ้นการอ่านสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งไม่ว่าตำราไหนก็สรุปไว้คล้ายๆ กัน ว่านิสัยรักการอ่านนั้นควรจะริเริ่มกันตั้งแต่วัยเด็ก เพียงแต่ที่แนะนำกันมานอกจากให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังและการทำให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความอยากอ่านหนังสือ
แต่รายงานการศึกษาของเอ็นแอลทีเองก็มีหลายส่วนที่ขัดแย้งกันเอง ในการสำรวจช่วงกลางปีก่อน พบว่าเด็กพึงพอใจกับการอ่านหนังสือเล่มๆ มากกว่าจากการอ่านบนหน้าจอ ในการอ่านประจำวันนั้นเด็กมีแนวโน้มจะอ่านจากหนังสือเล่มมากกว่าจากแท็บเล็ตมากถึง 34 เท่า และในการอ่านเกินกว่า 30 นาที เด็กมีแนวโน้มจะอ่านจากหนังสือมากกว่าบนแท็บเล็ตถึงสี่เท่า
และในรายงานชิ้นนี้เมื่อต้นปี ซึ่งเอ็นแอลทีสรุปว่าสามารถใช้แท็บเล็ตเชื่อมช่องว่างทางสังคมที่มีผลต่อการรู้หนังสือของเด็กได้นั้น กลับมีข้อมูลในการศึกษาชิ้นเดียวกันว่า เมื่อถึงวัย 5 ขวบ เด็กที่อ่านแต่หนังสือกระดาษอย่างเดียวรู้หนังสือเกินกว่าระดับเฉลี่ยของเด็กที่อ่านจากทั้งสองอย่าง
แท็บเล็ตกับการอ่านหนังสือของเด็กจึงเป็นประเด็นที่ชวนให้สับสนค่อนข้างมาก ที่ไม่สับสนเลยก็คือมันเข้ามามีบทบาทกับเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ การเป็นเจ้าของแท็บเล็ตสมัยนี้ง่ายกว่าการเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ในสมัยก่อนมาก เราเคยผ่านจากยุคที่ทุกบ้านมีทีวี มาสู่ยุคที่แทบทุกบ้านมีคอมพิวเตอร์ และเข้ามาสู่ยุคที่แทบทุกบ้านมีแท็บเล็ต
หากตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือเทคโนโลยีมันบุกเข้ามาถึงในบ้าน ก็ต้องมีวิธีการรับมือกับมัน
หากจัดการได้ไม่ดี สิ่งเหล่านี้ก็เข้ามาแย่งเวลาสำหรับกิจกรรมอื่นๆ ของเราไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสำหรับการอ่านหนังสือ และผมเชื่อว่าครอบครัวไทยส่วนใหญ่ไม่ได้จัดการอะไรในเรื่องนี้ ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมชาติในสภาพแวดล้อมที่ไม่กระตุ้นการอ่านหนังสืออยู่แล้ว ปัญหาการไม่อ่านหนังสือหรืออ่านหนังสือน้อยก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
นี่ยังไม่นับไปถึงเรื่องการอ่านได้ แต่อ่านไม่เป็น แบบที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในบทความชิ้นหนึ่งไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงและมีแต่จะฉุดรั้งสังคมไม่ให้ก้าวหน้าเติบโตบรรลุวุฒิภาวะ
คำถามคือจะทำอย่างไร อย่างน้อยไม่ให้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากลับมาถ่วงเราไว้ให้ล้าหลัง
ผลกระทบจากเทคโนโลยีเหล่านี้มีทั้งสองด้าน ซึ่งอาจจะเป็นด้านตรงข้ามกันเลยอย่างสุดขั้วก็ได้ การดึงเอาประสบการณ์เฉพาะไม่ว่าของใคร ครอบครัวไหน ไม่ว่าทั้งด้านบวกด้านลบมายึดถือเสมือนเป็นประสบการณ์ทั่วไปไม่ช่วยอะไรได้เลย
ผลงานการศึกษาและวิจัยต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากการใช้สามัญสำนึกหรือประสบการณ์เฉพาะตัวเป็นส่วนหนึ่งที่พอจะช่วยให้เราคลำทางถูกได้ แต่ผลงานเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสอบในรายละเอียดด้วยเช่นกัน