ร.ร.กวดวิชาภูธรผวา! รีดภาษี รายเล็กรับจ้างสอนตามบ้าน

ร.ร.กวดวิชาภูธรผวา! รีดภาษี รายเล็กรับจ้างสอนตามบ้าน

ร.ร.กวดวิชาภูธรผวา! รีดภาษี รายเล็กรับจ้างสอนตามบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาภูธรระทึก ผวารัฐโขกภาษี แบรนด์เล็กกระอัก โอดซ้ำเติมแข่งขันเดือด บิ๊กแบรนด์เมืองกรุงแห่ชิงตลาด ตัดราคา สู้ไม่ไหว ชี้หากเก็บภาษีสูงเกินไปแห่ปิดกิจการเพียบ หันมาสอนพิเศษหลังเลิกเรียน หรือสอนตามบ้านแทน

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำรายละเอียดในทางปฏิบัติ และเสนอเข้า ครม.พิจารณาอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ซึ่งได้ส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจกวดวิชาในจังหวัดต่างๆ ต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ปรับทัพ - โรงเรียน กวดวิชาในต่างจังหวัด กังวลการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ขนาดเล็ก ที่มีกำไรน้อย อาจปิดกิจการลง และจะปรับแผนการตลาดไปรับจ้างสอนแบบตัวต่อตัวหลังเลิกเรียนหรือรับจ้างสอน ตามบ้านแทน

นายธนากร ประพฤทธิพงษ์ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชา บ้านภาษา เดอะไวส์เฮ้าส์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรับได้หากรัฐบาลจะเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา แต่จะต้องไม่จัดเก็บในอัตราที่สูงจนเกินไป เพราะผู้ประกอบการท้องถิ่นรายเล็กในต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และยังไปซ้ำเติมตลาดที่กำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรงในขณะนี้ โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่อย่างจังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี ภูเก็ต หาดใหญ่ เป็นต้น

ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่งัดกลยุทธ์การตลาดมาแข่งขัน เช่น ลดราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่ง บางรายมีแจกของแถม ของที่ระลึก หรือใช้วิธีขายคอร์สเรียนพ่วงกับวิชาอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากแพ็กเกจราคาถูก ที่สำคัญแบรนด์ขนาดใหญ่จากส่วนกลางได้เข้าชิงมาร์เก็ตแชร์ ทำให้แนวโน้มแบรนด์เล็กที่เป็นทุนท้องถิ่นสู้ไม่ไหวจะปิดตัวลง เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าเช่า หรือผ่อนจ่ายค่างวดอาคารพาณิชย์ และค่าจ้างบุคลากรภายนอก

ทั้งนี้ หากต้องเสียภาษีก็จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ดังนั้นรายเล็กจะต้องปรับตัวด้วยการปิดกิจการ แล้วหันมารับจ้างสอนในโรงเรียนหลังเลิกเรียน หรือสอนตามบ้านแทน เพื่อเลี่ยงการเสียภาษี

"แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจะเติบโตรวดเร็วในต่างจังหวัด หลังจากตลาดในกรุงเทพฯเริ่มอิ่มตัว ทำให้บิ๊กแบรนด์หันไปลงทุนยังภูมิภาค เกิดการแข่งขันกันที่รุนแรง ดุเดือด ทำให้บางพื้นที่เกิดสงครามราคาแล้ว การจัดเก็บภาษีของรัฐยอมรับได้ แต่จะต้องไม่ใช่ภาษีในอัตราก้าวหน้า หรือเก็บในอัตราที่สูงมาก ซึ่งจะทำให้รายเล็กทุนท้องถิ่นแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หากจะมีการปรับค่าคอร์สเรียนก็จะส่งผลกระทบกับผู้ปกครองอยู่ดี รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนวณ หรือกำหนดอัตราภาษี ควรคำนึงถึงรายเล็กด้วย" นายธนากรกล่าวและว่า

หากรัฐจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา จะต้องมีการจัดเก็บภาษีครอบคลุมถึงโรงเรียนเตรียมสอบเข้าทหาร และตำรวจด้วย รวมทั้งควรจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศในอัตราที่สูงกว่าแบรนด์ไทย

ด้านนางวิภาวี วิรัชเศรษฐกุล เจ้าของสถาบันการเรียนรู้ไอมีไอคิว อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า รัฐควรกำหนดเพดานขั้นต่ำของการเสียภาษี เช่น จะต้องมีรายได้ในการทำธุรกิจมากกว่า 1.5 แสนบาท/ปีขึ้นไป หรือมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น มาตรการในการลดหย่อนภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากมีการเก็บภาษีจะส่งผลกระทบทันทีต่อการลงทุนใหม่ ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ปี 2557 ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 7.6 พันล้านบาท ปี 2558 แนวโน้มจะเติบโต 5.4% หรือมีมูลค่าประมาณ 8.1 พันล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook