ควานหาสาเหตุ "มนุษย์นีแอนเดอร์ธัล" สูญพันธุ์

ควานหาสาเหตุ "มนุษย์นีแอนเดอร์ธัล" สูญพันธุ์

ควานหาสาเหตุ "มนุษย์นีแอนเดอร์ธัล" สูญพันธุ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลกับมนุษย์สมัยใหม่มีบรรพบุรุษร่วมกัน เมื่อประมาณ 500,000 ปีก่อน ก่อนที่จะแยกวิวัฒนาการออกเป็นสองสาย ในช่วงที่มีประชากรขึ้นสู่ระดับสูงสุด นีแอนเดอร์ธัลมีประชากรอยู่ประมาณ 70,000 คน แต่จำนวนประชากรค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปในที่สุดในจุดใดจุดหนึ่งระหว่าง 35,000 ปีถึง 41,000 ปีที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบแน่ชัดว่า นีแอนเดอร์ธัลสูญพันธุ์ไปเพราะสาเหตุใด บางคนเสนอทฤษฎีว่า ถูกมนุษย์ที่เป็นบรรพชนของมนุษย์สมัยใหม่สังหาร บางคนบอกว่า นีแอนเดอร์ธัลค่อยผสมข้ามสายพันธุ์กับมนุษย์ปัจจุบัน จนถูกกลืนสายพันธุ์ไปในที่สุด

บางคนเสนอทฤษฎีที่ว่า การระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟในยุโรปที่เรียกว่า "คัมปาเนียน อีนิมบรีต์" ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 400,000 ปีก่อนในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่เป็นเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลีในปัจจุบัน ส่งผลให้อุณหภูมิในภาคพื้นยุโรปลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของนีแอนเดอร์ธัลในที่สุด

เบนจามิน แบลค นักธรณีวิทยาอเมริกันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ พยายามหาหนทางพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ด้วยการนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับหินภูเขาไฟที่เกิดจากการระเบิดดังกล่าวซึ่งมีอยู่แล้วไปใช้ในการวิเคราะห์ร่วมกับแบบจำลองสภาวะอากาศแบบจำลองที่ทำขึ้นใหม่นี้ใช้เพื่อคำนวณว่า ซัลเฟอร์ (กำมะถัน) ที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับและกระจายแสงแดด ทำให้ภาวะอากาศเย็นลง กระจายตัวออกไปในชั้นบรรยากาศปกคลุมเหนือยุโรปมากน้อยเพียงใด

ทีมวิจัยพบว่า บรรยากาศในเวลานั้นน่าจะเย็นลงระหว่าง 5-10 องศาเซลเชียส ซึ่งแน่นอนทำให้สภาพแวดล้อมเย็นลงเฉียบพลัน แต่การลดฮวบของอุณหภูมิในระดับดังกล่าวไม่น่าจะเกินกว่าที่มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลเคยพบมาและปรับตัวได้

นอกจากนั้นจากการตรวจสอบพบว่าในพื้นที่ที่เป็นอิตาลีในเวลานี้ ไม่มีมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลอยู่แล้วก่อนเกิดการระเบิด และการเปลี่ยนอุณหภูมิในพื้นที่ยุโรปส่วนอื่นๆ ก็น่าจะเบาบางกว่าในประเทศอิตาลี

ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยครั้งใหม่นี้แสดงให้เห็นว่า ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ดังกล่าวไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลสูญพันธุ์ไปจากโลก

อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์บางคนยังคงเชื่อว่า คัมปาเนียน อีนิมบรีต์ คือสาเหตุสำคัญในการสูญพันธุ์ดังกล่าว ธอร์วาลดูร์ ธอร์ดาร์สัน นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งไอซ์แลนด์ ชี้ว่า ปริมาณซัลเฟอร์ที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟส่งผลให้การไหลเวียนของอากาศเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้แบบจำลองที่ทีมวิจัยนำมาใช้วิจัยครั้งนี้ให้ข้อมูลผิดเพี้ยน

เขายังคงเชื่อว่าการระเบิดดังกล่าวผสมผสานกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนอื่นๆผลกระทบไม่พึงปรารถนาที่ตามมาอาจใหญ่หลวงเกินกว่าที่ใครๆ คาดคิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook