วันครู กับ การปฏิรูปการศึกษา
ประเทศเข้าสู่การปฏิรูป 11 ด้านนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ตั้งเป็นเป้าหมายที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนา ต่อมาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ถือกำเนิดขึ้น โดยมีภารกิจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดไว้
ทั้งนี้ การปฏิรูปด้านต่างๆ คงมอบให้ สปช.ศึกษา คิดค้น และเสนอแนะออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในความคาดหวังของสังคมไทยคือการปฏิรูปการศึกษา
การปฏิรูปการศึกษานั้นมีหลายมิติหลายองค์ประกอบ เช่น ครู นักเรียน โรงเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน แต่องค์ประกอบที่สำคัญมากคือครูซึ่งเป็นผู้สอน และผู้เรียน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับผู้เรียน
โดยพยายามกำหนดแนวทางการศึกษาแบบ "เด็กเป็นศูนย์กลาง" เอาไว้ เพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลก็ปรับปรุงพัฒนาเงินเดือน รายได้พิเศษ และสวัสดิการของครูมาเป็นลำดับ กระทั่งในปัจจุบันถือว่าอาชีพมีรายได้ไม่น้อยหน้าอาชีพใด
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ครูมีเงินเดือน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นเรื่อยๆ แต่นักเรียนซึ่งเป็นลูกศิษย์ครูกลับมีแนวโน้มพัฒนาการที่แย่ลง จนน่าสงสัยว่าหลังจากไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เด็กไทยจะดำรงอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับเด็กชาติอื่นในอาเซียน
ซึ่งเรื่องนี้เป็นการบ้านของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงครูที่ต้องหาวิธีการและเร่งดำเนินการให้การศึกษาไทย รวมถึงเยาวชนไทยมีความรู้ มีความดี ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดในโลก
ดังนั้น ครู ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่ตั้งความหวังจากครู หวังว่าครูจะมีความรู้ในวิชาหลัก ความรู้ในวิชารอง ความรู้ในเทคโนโลยี ฯลฯ รวมไปถึงความรู้ในวิชาครูซึ่งมีความสำคัญ
เพราะเป็นวิชาที่สอนคนให้เป็นครูที่มีความรู้ มีคุณธรรม มีเมตตา เป็นนักพัฒนาชีวิตมนุษย์ ครูจึงเป็นบุคคลที่น่าเคารพนับถือ เป็นปูชนียบุคคลที่น่ายกย่อง และวันที่ 16 มกราคมของทุกปีถือเป็น "วันครู" เพื่อให้ศิษย์หวนนึกถึงพระคุณครู ขณะเดียวกันก็ให้ครูตระหนักถึงภารกิจอันสำคัญของตัวเอง นั่นคือภารกิจความเป็นครูในฐานะผู้สร้างคนให้เป็นคนอย่างแท้จริง