เปิดช่อง ร.ร.ใช้ไม้เรียว แนะผู้บริหารทำข้อตกลง "พ่อแม่-น.ร."

เปิดช่อง ร.ร.ใช้ไม้เรียว แนะผู้บริหารทำข้อตกลง "พ่อแม่-น.ร."

เปิดช่อง ร.ร.ใช้ไม้เรียว แนะผู้บริหารทำข้อตกลง "พ่อแม่-น.ร."
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รับลูก "บิ๊กตู่" เปิดช่อง ร.ร.ใช้ไม้เรียวแนะผู้บริหารทำข้อตกลง "พ่อแม่-น.ร." สนช.ปิ๊งผุด "สภาศึกษาจังหวัด" ใต้ ศธ.

เมื่อวันที่ 19 มกราคม นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า โครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีความชัดเจนแล้ว คือให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาขึ้นกับนายกรัฐมนตรี จะใช้ชื่อใหม่ว่าสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ หรือสภาการศึกษาเดิม และมีคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีประมาณ 8-9 กระทรวง มาเป็นรองประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายพัฒนาคนของประเทศ ขณะเดียวกันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีข้อเสนอว่าควรมีสถาบันวิจัยระบบการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดการความรู้ สังเคราะห์ความรู้ สร้างนวัตกรรม รวมทั้งมีเครือข่ายการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ระดับจังหวัดด้วย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่า สนช.จะเสนอให้มีสภาการศึกษาจังหวัด ซึ่งมีโครงสร้างอยู่ภายใน ศธ. แต่ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานระดับจังหวัดดังกล่าวจะมีส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เข้ามาอยู่ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดสภาการศึกษาจังหวัด แต่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องฟังทิศทางของ สนช.ก่อน

"อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.แล้ว ในส่วนของ สพฐ.จะต้องพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สพฐ.ควรจะมีหรือไม่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาควรต้องปรับปรุงอย่างไร และควรมีกรรมการระดับจังหวัดหรือไม่ ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบแนวนโยบายไว้ 3-4 เรื่องแก่ สพฐ. อาทิ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัว การพัฒนาโรงเรียนให้เป็นนิติบุคคล เป็นต้น" นายกมลกล่าว

นายกมลกล่าวอีกว่า กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในวันครู 16 มกราคม ว่าการใช้ไม้เรียวจะทำให้เด็กเป็นคนดีนั้น ต้องยอมรับว่ายากหากจะฟื้นการใช้ไม้เรียว โดย ศธ.ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบของ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 และหากจะนำกลับมาใช้ ก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินไปหรือไม่ และอาจส่งผลให้เป็นกระแสสังคมตามมาอีก เพราะยุคปัจจุบันมีการแสดงความคิดเห็นขัดแย้งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิเด็ก

"ผมเชื่อการลงโทษด้วยไม้เรียวหรือการตีของครูยังไม่หมดไป เท่าที่ทราบหลายโรงเรียนยังใช้มาตรการลงโทษแบบนี้อยู่ แต่ได้มีการตกลงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองแล้ว ซึ่งขณะนี้การแก้ไขกฎระเบียบฯคงทำได้ยาก แต่ผมคิดว่ามีกระบวนการที่ยังใช้ได้อยู่ เช่น ผู้บริหารโรงเรียนและครูอาจต้องทำความเข้าใจพูดคุยกับผู้ปกครองและนักเรียน ว่าโรงเรียนจะนำมาตรการลงโทษด้วยไม้เรียวกลับมาใช้ จะมีความเหมาะสมหรือไม่ ในกรณีโรงเรียนที่มีนักเรียนมีพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวมาก แต่ต้องเป็นการตกลงระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองก่อน" นายกมลกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook