การศึกษาของฟินแลนด์ (2)

การศึกษาของฟินแลนด์ (2)

การศึกษาของฟินแลนด์ (2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ Education Idea
โดย ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนวัตกรรมทางการศึกษา สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

นักศึกษาครูฟินแลนด์จะต้องเข้าไปเรียนรู้ในโรงเรียนจริงๆตั้งแต่ปีที่ 1 เพื่อสังเกต เก็บข้อมูล และนำมาเปรียบเทียบกับทฤษฎีการเรียนรู้ระหว่างทางตลอด โดยใครอยากสอนมัธยมวิชาไหน จะต้องเลือกเรียนวิชาเฉพาะให้เข้มข้นกว่าคนอื่น ๆ คราวนี้ไม่ว่าใครจะจบจากมหาวิทยาลัยไหนมาไม่สน เพราะเขาไม่ให้ครูใหม่ป้ายแดงเดินตรงเข้าไปสอนนักเรียนเด็ดขาด

แต่ละคนจะมีช่วงเวลา 1-2 ปีแรกที่จะต้องสอนเป็นทีม และจะต้องมีพี่เลี้ยงคอยประกบ เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามคุณภาพที่ต้องการ ทางสหรัฐอเมริกาเรียกวิธีการทำงานแบบนี้ว่า Clinical Experience

วิธีนี้ทำให้ครูทุกคนในฟินแลนด์คุ้นเคยกับการทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริหารจัดการความรู้ในโรงเรียน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่รู้จบ ต่างกับบ้านเราที่มีแค่การฝึกสอนในปีสุดท้าย จบแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพครูและสามารถเดินเข้าไปสอนในห้องเรียนได้เลย

นี่คือประเด็นที่ต่างกันเห็นๆ

ประเด็นที่4 ปรับหลักสูตรบ่อยมั้ย ?

คำตอบคือ "บ่อย" และบ่อยกว่าประเทศไทยมากซะด้วย เพราะฟินแลนด์จะทำการปรับหลักสูตรทุก ๆ 3 ปี เพื่อให้เนื้อหาทันสมัยอยู่เสมอ โดยเอาคะแนนการสอบประเมินผลระดับชาติมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตร โดยหน้าที่ในการปรับหลักสูตรจะเป็นของ "อาจารย์มหาวิทยาลัย"

อย่างไรก็ดี แนวทางเรื่องหลักสูตรนี้เหมือนกับการศึกษาบ้านเรา คือเป็นหลักสูตร "แกนกลาง" ที่ให้กรอบขั้นพื้นฐานไปต่อยอด โดยครูจะต้องเขียนหลักสูตรโรงเรียนกันเอาเอง แนวทางนี้จะอยู่ในประเด็นต่อไป

นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการ ฟินแลนด์ จะมี "ข้อสอบตัวอย่าง" ส่งไปให้ครูทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการออกข้อสอบเพื่อวัดความรู้ของนักเรียนตัวเองด้วย

โดยเกรดของครูถือเป็นที่สิ้นสุดแต่ครูต้องให้เหตุผลได้ด้วยนะว่าอะไรคือที่มาของคะแนนเหล่านั้น

ประเด็นที่ 5 ทำไมคนอยากเป็นครู ?

เงินเดือนครูในฟินแลนด์อยู่ในกลุ่มของคนที่มีเงินเดือนดีมาก แต่ยังไม่ที่สุด เพราะน้อยกว่าหมอ และทนายความ เหตุผลสำคัญที่คนหนุ่มสาวในฟินแลนด์อยากเป็นครู เพราะเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับนับถือ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดคืออาชีพครูเป็นอาชีพที่เปิดโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพราะครูจะต้อง "ออกแบบ" กิจกรรมการเรียนการสอนเอง ตามกรอบหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

- การศึกษาของฟินแลนด์ (1)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook