ห่วงลดวิชาสอบโอเน็ต ทำเด็ก "ไม่ตั้งใจเรียนศิลปะ-พละ-การงาน"

ห่วงลดวิชาสอบโอเน็ต ทำเด็ก "ไม่ตั้งใจเรียนศิลปะ-พละ-การงาน"

ห่วงลดวิชาสอบโอเน็ต ทำเด็ก "ไม่ตั้งใจเรียนศิลปะ-พละ-การงาน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือปรับลดวิชาที่จะทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ซึ่งล่าสุด สทศ.ได้ลดจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือแค่ 5 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ส่วนศาสนาและวัฒนธรรม เตรียมนำเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาเห็นชอบนั้น

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายประสาท สืบค้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเพราะ สทศ.ไม่เคยหารือตน ถ้าเป็นนโยบายจากส่วนบนที่ต้องการให้ลดวิชาสอบ คงต้องเชิญ สทศ.มาให้ข้อมูลในการประชุม ทปอ.วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา ซึ่งการประชุมดังกล่าวเดิมได้เชิญรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มาให้นโยบาย แต่ติดภารกิจ จึงมอบนายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.มาแทน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาว่าการลดวิชาโอเน็ตจะกระทบต่อคณะ/สาขาวิชาปลายทางที่รับเด็กหรือไม่ ซึ่งต้องมาพิจารณาว่ามีกี่คณะ/สาขาวิชา ที่ใช้ 3 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี และเมื่อไม่ใช้คะแนนโอเน็ตจาก 3 กลุ่มสาระฯ ดังกล่าว จะใช้คะแนนจากส่วนไหนได้บ้าง

"เดิม ทปอ.ได้กำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่าง 1.คะแนนจากการวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และการวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) 2.คะแนนโอเน็ต และ 3.คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ซึ่งใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (แอดมิสชั่นส์) ไว้เรียบร้อยหมดแล้ว อย่างสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ถ้าไม่ใช้คะแนนจากกลุ่มสาระฯ สุขศึกษาและพลศึกษา เป็นต้น จะใช้คะแนนจากส่วนไหนได้บ้าง หรือคณะ/สาขาวิชา จะต้องจัดสอบกลุ่มสาระฯดังกล่าวเอง เรื่องนี้ต้องหารือกันอย่างรอบคอบเพื่อให้กระทบนักเรียนน้อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คะแนนและเงื่อนไขกะทันหันย่อมกระทบเด็กอย่างแน่นอน ต้องประกาศให้นักเรียนรู้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัว 3 ปี ดังนั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะทำอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่กระทบแค่นักเรียนที่จะแอดมิสชั่นส์ 4-5 แสนคน แต่จะกระทบถึงเพื่อนๆ และผู้ปกครองนักเรียนอีกด้วย" นายประสาทกล่าว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการลดวิชาสอบโอเน็ตจาก 8 กลุ่มสาระฯ เหลือแค่ 5 วิชาหลัก เด็กจะได้ไม่สอบหนักเกินไป ส่วนประเด็นที่ให้โรงเรียนเป็นผู้ออกข้อสอบวิชาสังคมฯ ส่วนที่ 2 ที่เป็นการสอบภาคปฏิบัติในวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศาสนา วัฒนธรรมเนื่องจากเป็นวิชาที่ต้องใช้ทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้น เป็นเรื่องดี แต่ สทศ.ต้องพูดคุยกับโรงเรียนในประเด็นความน่าเชื่อถือและมาตรฐานว่าควรมีเกณฑ์กลางอย่างไรเพื่อให้โรงเรียนให้คะแนนอย่างยุติธรรม ถูกต้องและโปร่งใส ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาโรงเรียนปล่อยคะแนนได้

"ส่วนที่หวั่นว่าอีก 3 กลุ่มสาระฯที่ไม่จัดสอบ เด็กอาจไม่สนใจเรียนนั้น เป็นไปได้ที่ครูผู้สอนทั้ง 3 กลุ่มสาระฯจะมองได้ว่าทั้ง 3 กลุ่มสาระฯไม่สำคัญ หรือสำคัญน้อยหรืออย่างไรถึงไม่มีการสอบ ฉะนั้น ผมมองว่าควรนำทั้ง 3 กลุ่มสาระฯแทรกอยู่ในวิชาสังคมฯ ส่วนที่ 2 ที่ให้โรงเรียนเป็นผู้ออกข้อสอบ เท่ากับว่าโรงเรียนจะเป็นผู้ออกข้อสอบ 3 วิชาครึ่ง ทั้งนี้ เห็นด้วยกับที่ให้นำ 3 กลุ่มสาระฯดังกล่าว มาออกข้อสอบภาคปฏิบัติ ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ เก็บเป็นแฟ้มสะสมผลงาน ดีเสียอีก เด็กจะได้ลงมือปฏิบัติ ไม่เน้นท่องจำ ถ้าทำได้เชื่อว่าจะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จเร็วขึ้น เนื่องจากองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์มีผลโดยตรงต่อกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน" นายสมพงษ์กล่าว

อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกะทันหัน จะกระทบต่อเด็กอย่างแน่นอน ซึ่งการเปลี่ยนใหญ่ควรต้องประกาศให้เด็กทราบล่วงหน้า 3 ปีเพื่อเตรียมตัว และเชื่อว่าเด็กทราบเงื่อนไข รายวิชาที่ต้องสอบและได้เตรียมตัวมาล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น ถ้าต้องมาเปลี่ยนกะทันหัน จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น เรื่องลดวิชาสอบโอเน็ต เป็นเรื่องดี แต่ไม่ควรด่วนตัดสินใจ ก่อนที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะนำเข้าหารือในที่ประชุมองค์กรหลักของ ศธ. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ควรต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนในเมืองและต่างจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ตลอดจนควรเชิญนักวิชาการ ผู้ปกครอง มาร่วมรับฟังชี้แจงนโยบายภาพรวมด้วย ศธ.ควรรับฟังเสียงสะท้อนว่าเด็กและผู้ปกครองเห็นด้วยหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจถูกต่อว่าได้ว่าเปลี่ยนนโยบายกะทันหัน โดยไม่ฟังเสียงเด็กผู้ได้รับผลกระทบ อีกทั้งเครื่องมือหรือข้อสอบที่โรงเรียนจะต้องเป็นผู้ออกนั้น พร้อมแล้วหรือไม่ จึงควรให้เวลาโรงเรียนเตรียมตัวในการสร้างเครื่องมือด้วย

นายบัณฑิต พัดเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนราชวินิต (ประถม) กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะจะทำให้เด็กสอบน้อยลง แต่ประเด็นกังวลคือ การนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในเรื่องต่างๆ ทั้งการเข้าศึกษาต่อระดับชั้น ม.1, ม.4, สถาบันอุดมศึกษา หรือการนำคะแนนไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาจบช่วงชั้น ซึ่งหากสอบแค่ 5 กลุ่มสาระฯหลัก ก็อาจทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในกลุ่มสาระฯที่ไม่ได้สอบ คือ กลุ่มสาระฯศิลปะ, กลุ่มสาระฯการงานอาชีพและเทคโนโลยี และกลุ่มสาระฯสุขศึกษาและพลศึกษา เพราะส่วนใหญ่เด็กจะมุ่งเรียนแต่วิชาที่ใช้สอบเท่านั้น โดยเฉพาะวิชาที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันการสอบแค่ 5 กลุ่มสาระฯ จะไม่ครอบคลุมกับการนำไปใช้ด้วย ดังนั้น จึงอยากให้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย แต่หากต่อไปจะสอบโอเน็ตแค่วัดความรู้พื้นฐาน โดยไม่นำไปใช้ ก็คงไม่เกิดผลกระทบอะไร ส่วนที่จะให้โรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกข้อสอบกลุ่มสาระฯสังคมฯนั้น โดยหลักการโรงเรียนจัดสอบเด็กอยู่แล้ว แต่หากเป็นการทดสอบระดับชาติ ก็อาจจะต้องมีมาตรฐานที่ออกจากส่วนกลาง เพื่อให้การจัดสอบมีคุณภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานในเว็บไซต์พันทิป ได้มีสมาชิกใช้ชื่อว่า "ครูพี่เหยิน" ออกมาตั้งกระทู้บอกเล่าเรื่องราวการทุจริตโอเน็ต ป.6 เมื่อผู้ใหญ่ของโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุนให้เด็กโกงข้อสอบโอเน็ต โดยเนื้อหาในกระทู้อ้างถึงคำพูดว่า "ผอ.ขอได้ไหมเด็กมันไม่ได้จริงๆ ผู้ใหญ่เค้าขอมา..." โดยเจ้าของกระทู้ระบุว่าแฟนซึ่งเป็นผู้หญิงรู้สึกกดดันเลยยอม และพบว่ามีการบอกข้อสอบจริง ทั้งระบุว่าสังเกตได้ว่ามีเด็กบางคนมีปัญหาอ่านหนังสือไม่ออก ขณะเดียวกันหลังสอบเสร็จผู้ที่ไปสังเกตการณ์ ได้ไปสอบถามตัวเด็ก ซึ่งเด็กยอมรับว่าครูบอก 2-3 ข้อ แต่ภายหลังการสอบเสร็จสิ้น ไปถามอีกครั้งสรุปว่ามีการบอกทุกวิชาอย่างละนิดละหน่อย โดยผู้ตั้งกระทู้ระบุว่าแฟนซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ ได้เขียนบันทึกรายงานไปตามจริง

นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า การสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 ทั้งสองวันเป็นไปอย่างเรียบร้อย ยังไม่มีรายงานการทุจริต ส่วนกรณีที่มีการตั้งกระทู้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งเป็นการตรวจสอบตามปกติที่ศูนย์สอบจะต้องรายงานมายัง สทศ. ทั้งนี้ เนื่องจากโอเน็ต ป.6 และ ม.3 มีเด็กสอบจำนวนมาก สทศ.จึงขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทำหน้าที่สังเกตการณ์การสอบทั่วประเทศ ซึ่ง มรภ.แต่ละจังหวัดจะจัดส่งอาจารย์ นักศึกษาปริญญาโทและเอก ไปประจำในแต่ละโรงเรียน ยกเว้นจังหวัดที่ไม่มี มรภ.ตั้งอยู่ ก็จะประสานมหาวิทยาลัยรัฐในพื้นที่ เป็นมาตรการเสริมเพื่อป้องปรามการทุจริตและดำเนินการมาต่อเนื่องถึง 3 ปีแล้ว

"ยังไม่ปักใจเชื่อ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังไม่อยากพูดอะไรไปก่อน เพราะจะกระทบกับครู ผู้บริหารโรงเรียนที่เขาตั้งใจทำดีก็จะหมดกำลังใจ แต่หากมีการกระทำผิดและมีหลักฐานชี้ชัดเจน ก็ต้องเอาผิดแน่ ซึ่ง สทศ.มีระเบียบชัดเจนว่าหากกรรมการคุมสอบทำผิด ต้องถูกดำเนินการตามวินัย เพราะผิดจรรยาบรรณ และถ้าสร้างความเสียหายต่อ สทศ.ด้วย สทศ. ก็จะฟ้องร้อง" นายสัมพันธ์กล่าว

นายศักดิ์ชัย บรรณสาร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 กล่าวว่า การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ระดับชั้น ป.6 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของจังหวัดสระแก้ว ไม่มีปัญหา มีเพียงเด็กขาดสอบ อาจมีสาเหตุมาจากอาการป่วย หรือติดธุระจำเป็นไม่สามารถมาสอบได้ อย่างไรก็ดี เด็กที่ไม่มาสอบ จะมีการสอบซ่อมทีหลัง และระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนขยายโอกาส ของ สพป.เขต 2 มีขาดสอบ 25 คน

"มีเด็กกลุ่มออทิสติกมาสอบเช่นกัน โดยใช้ข้อสอบเดียวกับนักเรียนปกติคนอื่นๆ ซึ่งเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้น่าจะแยกสอบต่างหาก หรือใช้ข้อสอบที่เด็กเขามีความถนัด ใช้วิธีการทดสอบทางอื่นแทน เพราะวิธีการประเมิน มีหลากหลายวิธี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กออทิสติก ควรแยกออกต่างหากไม่ควรนำมาสอบกับเด็กกลุ่มปกติ" นายศักดิ์ชัยกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook