5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ′แคลเซียม′
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ′แคลเซียม′
คอลัมน์ คุณภาพกระดูก คุณภาพชีวิต
เภสัชกร ดร.เทพินทร์ พยัคฆชาติ
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญที่สุดและมีมากที่สุดในร่างกาย มีความจำเป็นเพื่อกระดูกที่แข็งแรง และกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย ทั้งนี้ 99% ของแคลเซียมถูกเก็บสะสมไว้ที่กระดูกและฟัน อีก 1 % อยู่ในเลือด ในเลือดจะมีปริมาณแคลเซียมคงที่ตลอดเวลาใช้ในการดำรงชีวิตให้เป็นปกติสุข
อย่างไรก็ตาม ทุกวันเราสูญเสียแคลเซียมทางผิวหนัง เล็บ เหงื่อ และอุจจาระ มันจึงมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิต เช่น รักษาคุณภาพของกระดูกและฟัน, ควบคุมการเต้นของหัวใจ กล้ามเนื้อและระบบประสาท, ควบคุมความดันโลหิต, ลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL Cholesterol), ใช้ในการแข็งตัวของเลือด, ปรับ pH ของเลือด, มีส่วนร่วมในการป้องกันมะเร็งทางเดินอาหารและลำไส้ ฯลฯ
1. ถ้าขาดแคลเซียมจะรู้ตัวหรือไม่
อาจมีอาการเตือนหรือบ่งบอก เช่น นิ้วชา กล้ามเนื้อเป็นตะคริว, เฉื่อยชา, เบื่ออาหาร ฯลฯ ถ้าเป็นมากจะมีอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ ผิวหนังอักเสบ ระบบโครงสร้างของกระดูกผิดปกติ อาการอื่นๆ เช่น เล็บเปราะ ฟันผุ กระดูกบาง ปวดตามข้อ โรคกระดูกพรุน
2. ร่างกายสร้างแคลเซียมได้ไหม
แคลเซียมมาจากอาหาร ร่างกายสร้างแคลเซียมเองไม่ได้ ต้องได้รับมาจากอาหารเท่านั้น
3. อาหารกับแคลเซียม
ควรรับประทานอาหารที่ได้สัดส่วน มีปริมาณแคลเซียมสูงๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากงา ถั่วต่างๆ (ถั่วแขก ถั่วลันเตา) ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ เต้าเจี้ยว ถั่วต่างๆ ผักใบเขียวเข้ม (เช่น คะน้า แขนง บล็อกคอลี่ ปวยเล้ง ใบมะรุม) กะปิ กุ้งฝอย ปลาร้า ปลาป่น ปลาตัวเล็กๆ ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากนม เนยแข็ง นมเปรี้ยว (ไขมันต่ำ) ฯลฯ แต่จากสถิติต่างๆที่มีการรายงาน ผู้คนแทบทุกชาติได้รับแคลเซียมจากอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (DRI)
4. ปริมาณแคลเซียมที่ควรบริโภค
คนเราต้องการแคลเซียมในแต่ละวันผันแปรไปตลอดชีวิต DRI (Dietary Reference Intake) แนะนำให้อายุ 9-18 ปี ควรบริโภควันละ 1,300 มก. อายุ 19-50 ปี วันละ 1,000 มก. วัยหลัง 50 ปี วันละ 1,200 มก. คนไทยโดยทั่วไปบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานในปี 2552 ว่าคนไทยได้รับแคลเซียมเพียง 30% ของความต้องการในแต่ละวัน กรมอนามัยสำรวจในปี 2538 ว่าคนไทยได้รับแคลเซียมเพียงวันละประมาณ 300 มก.
5. การเลือกซื้ออาหารเสริมแคลเซียม
แคลเซียมในท้องตลาดทำมาจากสารอนินทรีย์ (Inorganic) เช่น จากหินปูน เปลือกหอย ปะการัง โดโลไมท์ และสังเคราะห์ขึ้นใหม่เป็นเกลือแคลเซียมชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่ในท้องตลาดได้แก่แคลเซียมคาร์บอเนตเพราะหาง่าย ราคาถูก แต่อาจมีการปนเปื้อนของตะกั่วเป็นพิษได้
นอกจากนี้ ผลข้างเคียงจากการกินแคลเซียมคาร์บอเนตจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย อาจเกิดก้อนนิ่วได้ ปัจจุบันมีนวัตกรรมแคลเซียมผลิตมาจากสารอินทรีย์ (Organic) ธรรมชาติ เช่น จากเกล็ดปลา ปลอดภัยกว่า ได้ผลเร็ว มีกลุ่มนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว ใช้สารจากเกล็ดปลาปลูกกระดูกเทียม ผลปรากฏว่าสร้างกระดูกได้แข็ง มีคุณภาพดี และใช้เวลาสร้างรวดเร็วขึ้นมาก