ไอ...สัญญาณบอกโรค
ช่วงนี้อากาศเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว แถมบางครั้งมีฝนตกร่วมด้วย ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือที่เรียกว่า "เป็นหวัด เจ็บคอ" มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กทารก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแออยู่แล้วเนื่องจากมีโรคประจำตัว ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน โรคเรื้อรัง โรคทางเลือดที่ผิดปกติ ฯลฯ ต้องควรระวังเป็นพิเศษ เพราะการเป็นไข้หวัดในยุคปัจจุบันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จากที่สมัยก่อนการเป็นหวัด ผู้ใหญ่มักบอกให้นอนพักผ่อนมากๆ จิบน้ำอุ่น ใส่เสื้อผ้าหนาทำร่างกายให้อบอุ่น รอดูอาการ 2 - 3 วัน ก็ดีขึ้น แต่ปัจจุบันการเป็นไข้หวัดติดต่อกันได้ง่ายมาก เพราะมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น บางสายพันธุ์มีความรุนแรงมากจนถึงกับทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้
นอกจากนั้น การปล่อยรอดูอาการนานเกินไปก็อาจทำให้อาการที่เป็นน้อยกลายเป็นมากขึ้น ต้องรักษาด้วยการใช้ยาที่แรงกว่าปกติ และใช้เวลาในการรักษานานเป็น 1 - 2 สัปดาห์ ดังนั้นการเป็นไข้หวัดคออักเสบเดี๋ยวนี้จึงอาจจะไม่ใช่โรคหมูๆ ที่ปล่อยให้หายเองได้เหมือนที่เคยเป็นมา เมื่อเรารอดูอาการแล้วเห็นว่าท่าจะไม่ดี อาการเป็นหนักขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีครับ
ในผู้ป่วยที่เป็นหวัดคออักเสบ อาการที่ทรมานอย่างหนึ่งก็คือเรื่องอาการไอ บางคนไอมากจนนอนไม่หลับ ไอจนเป็นที่รำคาญของตนเองและคนรอบข้าง หรือไอจนเกร็งเจ็บปวดเมื่อยไปทั้งตัวทั้งที่หน้าอกและหน้าท้อง ไอแรงจนปัสสาวะเล็ดก็ยังมี ดังนั้นเราลองมาดูว่าอาการไอเกิดจากอะไร และสมควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดอาการไอมากๆ
การไอเป็นปฏิกิริยา อาการอย่างหนึ่งของร่างกายที่เสมือนกลไกป้องกันตัวเองในระบบทางเดินหายใจให้ขับเอาสิ่งที่จะอุดกั้นทางเดินหายใจออกมาที่พบบ่อยเช่นเสมหะควันต่างๆและสารแปลกปลอม (พบได้เวลาที่กินอาหารหรือดื่มน้ำแล้วสำลักเข้าหลอดลม) เป็นต้น หรือเกิดจากการระคายเคืองของคอและระบบทางเดินหายใจ เช่น มีการอักเสบติดเชื้อ หรือเป็นโรคภูมิแพ้ อาการไอนี้เราไม่สามารถควบคุมได้ เป็นรีเฟล็กซ์ (REFLEX) หรือปฏิกิริยาอัตโนมัติ
เราสามารถแบ่งอาการไอออกได้เป็น 2 แบบ ตามลักษณะของการไอคือ ไอแบบแห้งกับไอแบบที่มีเสมหะ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอจะมาจากสาเหตุ 2 แห่ง คือ ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ ลำคอและกล่องเสียง กับทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หลอดลมและปอด ซึ่งโรคที่เกิดกับทางเดินหายใจส่วนบนแล้วทำให้เกิดอาการไอ เช่น เป็นไข้หวัด คออักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น ส่วนโรคที่เกิดกับทางเดินหายใจส่วนล่างแล้วเกิดอาการไอ เช่น หลอดลมอักเสบ หอบหืด ปอดบวม ปอดอักเสบ วัณโรค เป็นต้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอาการไอจากโรคที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจส่วนบนมักจะอันตรายรุนแรงน้อยกว่า โรคที่มาจากทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยแยกโรคให้แก่ท่าน
เมื่อท่านมีอาการไอ สิ่งที่จะต้องทำเป็นประการแรก ประเมินความรุนแรงของการไอ ถ้าเป็นการไอที่รุนแรง เช่น ไอมากไม่ได้หลับไม่ได้นอน มีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก ไอเป็นเลือด ไอร่วมกับมีอาการไข้สูงหรือไอนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ แบบนี้ควรต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุ เพราะจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจส่วนล่าง สำหรับผู้ที่มีอาการไอไม่รุนแรง สิ่งที่ควรปฏิบัติตัวได้แก่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ระคายเคืองคอ เช่น อาหารมัน เผ็ด อาหารทอดต่างๆ
- หลีกเลี่ยงอากาศเย็น โดยเฉพาะเวลานอนถ้าเปิดแอร์ควรปรับที่อุณภูมิฯ 25? หรือสูงกว่า
- ไม่ควรพูดหรือใช้เสียงมาก ยิ่งพูดจะยิ่งระคายคอ คอแห้ง ทำให้ไอมากขึ้น
- ดื่มน้ำมากๆ หรือจิบน้ำบ่อยๆ จะเป็นน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นก็ได้ เพราะน้ำจะเป็นตัวให้ ความชุ่มชื้นแก่ลำคอ และเป็นสารละลายเสมหะที่ดีที่สุด
- หลีกเลี่ยงควันที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่น ควันธูป ควันเวลาทำอาหาร เป็นต้น
- การใช้ยาอม สามารถบรรเทาอาการไอได้เพราะยาอมจะทำให้ช่องปากมีการ ขับหลั่งน้ำลายออกมา ทำให้คอชุ่มชื้น
- ยาขับหรือละลายเสมหะจะมีประโยชน์ เมื่อท่านไอแบบมีเสมหะเหนียว ถ้าท่านไอแบบแห้ง ยาละลายเสมหะก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ช่วยให้ท่านไอน้อยลง
ดังนั้น เมื่อท่านมีอาการไอ นอกจากกินยาตามที่แพทย์สั่งแล้ว ท่านจะต้องปฏิบัติตัวให้เหมาะสมด้วย จึงจะทำให้อาการไอหายเร็ว เพราะถ้าท่านปล่อยให้อาการไอเป็นอยู่นานเกินไป แม้ท่านจะมารักษาเต็มที่ภายหลัง ก็จะใช้เวลาเป็นเดือนกว่าอาการจะหายหมด ผมขอบอก
คอลัมน์ คลินิกหู คอ จมูก
โดย นายแพทย์ชัยยศ เด่นอริยะกูล
หัวหน้ากลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร