ชี้เด็กต่ำ 13 ปี เล่นสมาร์ทโฟน เข้ารักษา "สายตาสั้นเทียม" พุ่ง
"จักษุแพทย์" เผยเด็กต่ำ 13 ปี จ้องเล่นเกมในสมาร์ทโฟน "สายตาสั้นเทียม" พุ่ง รพ.มธ.รักษาเฉลี่ย 500 คนต่อเดือน เสี่ยงกล้ามเนื้อตาเสื่อมเร็ว แนะผู้ปกครองจำกัดเล่น 30-45 นาทีต่อรอบ วันธรรมดาไม่เกิน 2 ครั้ง ตัดแว่นไม่ช่วยแถมสิ้นเปลือง
จากกรณีจักษุแพทย์ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น ส่งผลให้มีปัญหาทางสายตาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จนส่งผลต่อสายตาและทำให้มีผู้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ชอบเล่นเกมผ่านสมาร์ทโฟน การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ต้องเพ่งมองจอใกล้กว่าการใช้คอมพิวเตอร์ หากทำนานๆ จะเกิดภาวะที่เรียกว่าตาเพ่งค้าง ยิ่งใช้นานหลายชั่วโมงติดต่อกันอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว ตาพร่าได้ หรือที่เรียกว่าสายตาสั้นเทียม (ชั่วคราว)
"ปัญหาคือ เมื่อเด็กมีปัญหาดังกล่าว พ่อแม่จะพาไปตัดแว่น เพราะเข้าใจว่าลูกมีอาการสายตาสั้น แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากสายตาสั้นมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม แต่ก็มีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ อย่างการใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเกม ท่องโลกออนไลน์ จะเป็นลักษณะสายตาสั้นเทียมมากกว่า เมื่อพาเด็กไปตรวจสายตาที่ร้านแว่น ช่างแว่นอาจวินิจฉัยไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพราะหลายร้านอาจต้องการขายแว่นสายตา ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดต้องพาเด็กไปตรวจสายตาอย่างละเอียดกับจักษุแพทย์" นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว และว่า ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี จะมีการเพ่งมองมากกว่าปกติ ในการตรวจวัดสายตา จักษุแพทย์จะต้องมีการหยอดยาลดการเพ่งเพื่อปรับสายตาให้คงที่ แต่หากไปร้านแว่นสายตา ช่างจะไม่สามารถหยอดยาดังกล่าวให้ได้ เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายการประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงทำให้ไม่มีการตรวจลักษณะนี้ สุดท้ายเด็กก็จะได้แว่นสายตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาจริง เมื่อสวมใส่แว่นที่ตัดจะมีอาการปวดตา ซึ่งนอกจากสิ้นเปลืองเงินแล้ว ยังอาจเป็นผลเสียต่อตาเด็กได้ ฉะนั้นหากเด็กกลุ่มนี้ตาพร่ามัว มองไม่ชัด เหมือนสายตาสั้น ควรพาไปพบจักษุแพทย์ วหน้าภาควิชาจักษุฯกล่าวต่อว่า ปกติที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯมีเด็กมาตรวจรักษาตามาก เนื่องจากมีอาการตาพร่ามัว และพ่อแม่เข้าใจว่าลูกเล่นเกมมากเกินไปจนสายตาสั้น ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อตรวจแล้วจะพบว่าเป็นสายตาสั้นเทียมร้อยละ 50 จากที่มารักษาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 500 คน ทั้งนี้ ภาวะสายตาสั้นเทียมนั้นบางคนจะเกิดเพียงไม่กี่นาทีก็หาย แต่บางคนเป็นวันกว่าจะหายจากอาการ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่าพ่อแม่ผู้ปกครองว่าควรหมั่นควบคุมการใช้สมาร์ทโฟนของเด็ก หากเป็นวันธรรมดาควรเล่นไม่เกินวันละ 2 รอบ รอบละไม่เกิน 30-45 นาที จากนั้นให้พักสายตาแล้วมองไปไกลๆ อย่างน้อย 5-10 นาที ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ให้เล่นประมาณ 3 รอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาสายตาสั้นจากการเพ่งจอมือถือในเด็กไทยมีมากขึ้นหรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า มีมากขึ้นเมื่อเทียบข้อมูล 15 ปีก่อน จะพบว่าเด็กระดับประถมศึกษา อายุ 12-13 ปี พบสายตาสั้นประมาณ 7.8% แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มธ. ได้ไปสำรวจเด็กระดับประถมศึกษาประมาณ 1,000 คน บริเวณพื้นที่ จ.ปทุมธานี พบว่าสายตาสั้นประมาณ 10-13% มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับประเทศที่มีการเล่นเทคโนโลยีสูง เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่พบกลุ่มนักเรียนมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้น
ด้าน นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเพ่งมองจอสมาร์ทโฟนหรือจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ต้องพิจารณาว่าใช้งานมากน้อยแค่ไหน เช่น การเพ่งมองสมาร์ทโฟน หรือกรณีการอ่านหนังสือเตรียมสอบของเด็กนักเรียน ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบกับสายตา คือสายตาสั้นชั่วคราว แต่เมื่อออกจากการใช้สายตาลักษณะดังกล่าวก็จะกลับมาเหมือนเดิม แต่ในกรณีที่ใช้สายตาแบบนั้นนานหลายชั่วโมง มีระยะเวลาเป็นปี จะทำให้มีโอกาสสายตาสั้นถาวรได้ เนื่องจากปกติกล้ามเนื้อตาจะมีการปรับการมองเห็นใกล้และไกลอย่างอัตโนมัติ แต่หากมองสิ่งใดเป็นเวลานานจะทำให้ระบบกล้ามเนื้อตาไม่ทำงานอัตโนมัติอีก ซึ่งระบบกล้ามเนื้อตาจะเสื่อมลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่หากใช้โทรศัพท์ หรือจ้องมองสิ่งใด หรือใช้งานสายตามากเป็นเวลานานติดต่อกัน ย่อมทำให้เสื่อมเร็วและมีโอกาสสายตาสั้นถาวร ทั้งนี้ ประเด็นที่ระบุว่าพบเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเพราะใช้สมาร์ทโฟนนั้นอาจไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีการทำวิจัยในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
ที่มา : นสพ.มติชน