คลี่ตารางชีวิต ครูไทยใน 1 ปี (1)

คลี่ตารางชีวิต ครูไทยใน 1 ปี (1)

คลี่ตารางชีวิต ครูไทยใน 1 ปี (1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คอลัมน์ Education ldeas โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

สวัสดีครับ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา หวังว่าทุกท่านจะได้มีโอกาสได้ระลึกถึงคุณครูผู้เสียสละอุทิศตนแก่ศิษย์เนื่องในโอกาสวันครู แต่ผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่ทราบว่าในความเป็นจริงแล้ว นอกจากภารกิจหลักในการสอนหนังสือของครูในแต่ละวันครูไทยยังใช้เวลาไปกับกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย

เพื่อให้คลายความสงสัยว่า ใน 1 ปีครูไทยใช้เวลาไปกับกิจกรรมใดบ้าง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้จัดทำผลการวิจัยเรื่อง "คลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี" ขึ้นเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา

การสำรวจครั้งนี้มุ่งศึกษากิจกรรมภายนอกชั้นเรียนทุกประเภทกิจกรรม ที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู เพื่อสะท้อนสถานการณ์การทำงานของครูภายใต้ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน พบว่าใน 1 ปีมีจำนวนวันเปิดเรียนทั้งหมด 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42%

โดยมีการสุ่มตัวอย่างครูสอนดีจำนวน 427 คน จากครูสอนดีจำนวนมากกว่า 18,000 คน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ทั้ง 7,000 กว่าตำบลทั่วประเทศไทย โดยผลสำรวจระบุว่า ภารกิจใน 1 วัน หมายความว่า ในวันนั้นครูใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง หรือมากกว่าเพื่อกระทำภารกิจนั้นทั้งวัน เช่น จัดกิจกรรมการเตรียมการ การเดินทาง การพบปะเจ้าหน้าที่ การจัดทำเอกสาร หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุภารกิจนั้น ๆ

สำหรับกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 การประเมินของหน่วยงานภายนอกเฉลี่ย 43 วัน ทั้งการประเมินโรงเรียน ประเมินครูและประเมินนักเรียน โดยครูใช้เวลาไปกับการประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดในโครงการต่าง ๆ 18 วัน การประเมินของสถาบันทดสอบ 16 วัน และการประเมินของ สมศ. 9 วัน ตามด้วยอันดับ 2 การแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน

และอันดับ 3 การอบรมจากหน่วยงานภายนอก 10 วัน โดยครูส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ส่งผลดีต่อการเรียนการสอน ได้แก่ การแข่งขันทางวิชาการ การประเมิน O-NET การอบรม และการประเมินการอ่าน ส่วนกิจกรรมที่ครูส่วนใหญ่เห็นว่าส่งผลเสียต่อการเรียนการสอน คือ การประเมินโรงเรียนโดย สมศ. การอบรมและการประเมินอื่น ๆ

และเมื่อฟังเสียงสะท้อนของครูส่วนใหญ่พบว่า สิ่งที่ครูไทยต้องการคือ เวลาคืนกลับสู่ห้องเรียน และลดภาระงานที่ไม่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยลดภาระการประเมินด้านเอกสารลง และควรจัดอบรมในเนื้อหาที่ครูต้องการในช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น ที่น่าสนใจคือครูมากกว่า 90% เห็นว่าหากโรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการด้านวิชาการ การบริหารงบประมาณ และการบริหารบุคคล จะมีส่วนสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนของครู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook