รู้ทัน"สายตาสั้นเทียม" มันมากับ"สมาร์ทโฟน" ?!
ปัจจุบัน "สมาร์ทโฟน" ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนนอกจากจะใช้สมาร์ทโฟนแล้ว ยังมีแท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์อีก เรียกว่าวันทั้งวันนั่งจ้องมองแต่เจ้าจอสี่เหลี่ยม
พฤติกรรมเหล่านี้มีให้เห็นในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ที่พบว่าในปัจจุบันส่วนมากใช้เวลาวันละไม่ต่ำกว่า 3-4 ชั่วโมง ในการนั่งเล่นสมาร์ทโฟนแทนของเล่นอื่นๆ โดยที่ไม่เคยรู้หรือรู้แต่ไม่ตระหนักว่า การนั่งเพ่งสายตาตลอดเวลา ยิ่งการนั่งเล่นเกมจนติดพัน ไม่ยอมละสายตาจากหน้าจอนั้น อาจกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย นั่นคือทำให้เกิดปัญหาอาการ "สายตาสั้นเทียม" (Pseudomyopia) ตามมา
"เด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 13 ปี จะเกิดอาการสายตาสั้นเทียม ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาเพ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานแล้วทำให้สายตาค้าง หมายถึงอาการคลายของสายตาช้าลง สายตายังคงมีอาการเพ่งค้างอยู่ในระยะใกล้ เนื่องจากใช้สายตามานาน" รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์" หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าว และว่า เด็กบางคนสายตาค้างนานเป็นวัน สำหรับอาการที่ปรากฏคือ ภาพที่เด็กเห็นไม่โฟกัส มีอาการตาพร่า มองไกลไม่ชัด ทำให้ผู้ปกครองมักเข้าใจว่าเด็กเริ่มมีปัญหาสายตาสั้น หลายคนจึงพาเด็กไปวัดสายตาที่ร้านแว่น ทำให้ได้แว่นสายตาสั้นมา หากเด็กใส่แว่นที่ไม่ใช่ค่าสายตาของตัวเองจะส่งผลให้เด็กต้องเพ่งระยะสายตาตามระยะของแว่นไปด้วย ส่งผลเสียต่อเด็ก ทำให้เด็กมีอาการปวดตา ปวดหัว อาจทำให้สายตาสั้นจริงๆ ตามแว่นไปด้วย ที่สำคัญผลจากการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องนี้จะทำให้ผู้ปกครองหรือคนที่มีปัญหาสายตาสั้นเทียมต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการตัดแว่นโดยใช่เหตุ
รศ.นพ.ศักดิ์ชัยบอกอีกว่า เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีนั้น ขอแนะนำว่าให้ผู้ปกครองพาเด็กไปพบจักษุแพทย์ เพื่อให้ตรวจสอบว่าเป็นอาการสายตาสั้นจริงหรือเทียม เนื่องจากจักษุแพทย์มีใบรับรองการประกอบวิชาชีพ ทำให้สามารถใช้ยาหยอดตาลดอาการเพ่งของสายตาเพื่อหาค่าสายตาที่แท้จริงได้
"ที่ผ่านมา จากเด็กที่เข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พบว่ามีเด็กสายตาสั้นเทียมจำนวนมาก และบางส่วนเป็นอาการสายตาสั้นจริงผสมสายตาสั้นเทียม ทำให้วัดค่าสายตาออกมาแล้วมีค่าสายตาสั้นมาก เช่น ก่อนหยอดยาลดอาการเพ่งวัดค่าสายตาได้อาการสั้น 500 แต่เมื่อหยอดยาลดอาการเพ่ง วัดค่าสายตาได้ 200 เท่านั้น นอกจากนี้ ในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า เด็กที่มีอาการสายตาสั้นเทียมบ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการสายตาสั้นจริงมากขึ้น" หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มธ.บอก
รศ.นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า เกณฑ์อายุเด็กที่แนะนำให้พบจักษุแพทย์ก่อนตัดแว่นนั้นคืออายุต่ำกว่า 13 ปี เนื่องจากเคยมีการศึกษาในประเทศไทยกับเด็กจำนวน 500 คน นำเด็กมาวัดค่าสายตาก่อนและหลังหยอดยาลดอาการเพ่ง ผลปรากฏว่าค่าสายตาของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนเด็กที่อายุเกินกว่า 13 ปีนั้นมีค่าสายตาที่คล้ายกับผู้ใหญ่ ความสามารถในการเพ่งสายตานั้นจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จนเมื่ออายุประมาณ 40 ปี ก็จะเพ่งไม่ค่อยได้ ทำให้ต้องใส่แว่นสายตายาว ส่วนในกรณีของผู้ใหญ่นั้นก็อาจเกิดอาการเพ่งค้างได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้สายตามองใกล้ในระยะเวลานาน ใช้คอมพิวเตอร์ในระยะเวลานาน หรืออ่านหนังสือ แต่จะหายได้ในไม่กี่นาที บางรายอาจจะไม่กี่วินาที เนื่องจากมีความสามารถในการเพ่งน้อยกว่าเด็ก
ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่าสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้นเทียมได้โดยการออกกำลังกายตาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ด้วยการเพ่งมองปลายนิ้วแล้วขยับเข้าออก ฯลฯ นั้น รศ.นพ.ศักดิ์ชัยอธิบายว่า วิธีดังกล่าวไม่สามารถช่วยแก้ไขอาการสายตาสั้นเทียมได้แต่อย่างใด วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาสายตาสั้นเทียมคือ "การพักการใช้สายตา" อย่างการใช้สายตาทุกๆ 30-45 นาที ควรหยุดพักการใช้สายตาประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้ตาคลายภาวะการเพ่ง ไม่ให้เกิดอาการเพ่งค้าง
ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น ปัจจุบันวัยรุ่น วันทำงาน กระทั่งวัยชรา ต่างมีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ ซึ่งว่างจากการทำงานและมักหันมาใช้โซเซียลเน็ตเวิร์กในการพูดคุยกับเพื่อนฝูง ควรใช้สมาร์ทโฟนอย่างพอดี พักสายตาบ้าง
เนื่องจากการมองหน้าจอนานๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ "ตา" ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญของร่างกาย