อยากเรียนภาษาญี่ปุ่น ต้องทำอย่างไรจึงจะสำเร็จมาดูกัน
สำหรับเพื่อนๆ ที่หลงมนเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่น จนอยากเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ลองมาดูขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้กันดีกว่า
1. ตั้งเป้าหมาย
ตั้งไว้ค่ะ จะเรียนไปเพื่ออะไร หลายๆ คนอาจเรียนภาษาญี่ปุ่น "เพราะสนใจ" "เพื่อสื่อสารกับคนญี่ปุ่นได้" หรือ "เพราะภาษาญี่ปุ่นน่ารักดี"
ดิฉันขอแนะนำให้ลองระบุไปให้ชัดมากขึ้น เช่น
"เพราะสนใจ" ลองเปลี่ยนเป็น"เพราะเลิฟพี่นิโนะแห่งวง ARASHI มากๆ ฝันอยากเขียนจดหมายรักถึงพี่เขาเป็นภาษาญี่ปุ่นให้ได้"
เหตุผลที่ละเอียดเห็นภาพอื่นๆ เช่น เพื่อให้อ่านคำอธิบายเกมออก เพื่ออ่านการ์ตูนญี่ปุ่นรู้เรื่อง เพื่ออ่านป้ายบอกทางหรือเมนูอาหารเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ หรือเหตุผลจริงจังอย่าง "สอบ N1 ผ่านให้ได้ภายใน 2 ปี" ก็ได้ค่ะ
2. หาเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวเอง
น้องๆ หลายคนถามดิฉันบ่อยมากว่า พี่เกตุวดีมีเทคนิคในการเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างไร ดิฉันแนะนำว่า เราต้องรู้จักตัวเองก่อน ดูว่าตัวเองมีความชอบอะไร อยากฝึกด้านไหนเป็นพิเศษ การพูด หรือการเขียน หรือการอ่าน และเทคนิคแบบไหนเหมาะกับเราและ skill ที่เราอยากได้ ยกตัวอย่างเช่น
1) เทคนิคแปะ
กล่าวคือ เขียนคันจิไว้บนกระดาษ แล้วแปะทุกมุมของห้อง ให้สายตาเราเห็นบ่อยๆ จนจำคันจิตัวนั้นได้ สถานที่ที่เวิร์คมาก คือ ในห้องน้ำ เพราะจะเป็นสถานที่ที่เราสงบนิ่ง และพอมีเวลามองสิ่งรอบตัวได้มากที่สุดค่ะ
2) เทคนิคการ์ดคำศัพท์
ที่ญี่ปุ่น จะมีขายกระดาษโน้ตแข็งแผ่นเล็กๆ แบบนี้ค่ะ เรียกว่า 「単語カード(ทังโกะ คาโดะ)」หรือการ์ดคำศัพท์นั่นเอง
ดิฉันไม่แน่ใจว่าเมืองไทยมีขายหรือเปล่า แต่ถ้าไม่มี เราทำเองก็ได้ง่ายๆ ค่ะ ตัดกระดาษแข็งสีขาว เจาะรู แล้วร้อยห่วงไว้ด้วยกัน
วิธีใช้คือเขียนตัวคันจิหรือคำศัพท์ใหม่ไว้ด้านหนึ่ง เขียนคำอ่านไว้อีกด้านหนึ่ง เวลาขึ้นรถไฟหรือเวลาว่างระหว่างคาบเรียน ก็หยิบการ์ดคำศัพท์มานั่งพลิกๆๆๆ ทวนไปก็ได้ คำไหนจำได้แล้ว ก็หยิบออกจากกอง
ขอบคุณภาพจาก:http://chugaku-juken.sblo.jp/category/821976-1.html
เทคนิคข้อ 1 และ 2 จะเหมาะกับคนที่ชอบจำเป็นภาพอย่างตัวดิฉัน ตอนเรียนภาษา ดิฉันก็ใช้ 2 วิธีนี้มาโดยตลอดค่ะ
3) เทคนิคเขียนถึกทุย
สำหรับคนที่เป็นคนที่ชอบ "ลงมือ" ทำ ดิฉันแนะนำให้ลองคัดตัวฮิรางานะ คาตาคานะ หรือคันจิลงในสมุดสักเล่มดูค่ะ บางคนยิ่งเขียนบ่อย ยิ่งจำได้ง่าย ตอนเรียนภาษาญี่ปุ่นช่วงแรกๆ ตอนที่ศัพท์ยังไม่เยอะ ดิฉันก็ใช้วิธีนี้ค่ะ
4) เทคนิคงึมงำกับตัวเอง
ค่ะ ... ฝึกพูดกับตัวเองเป็นภาษาญี่ปุ่น หลายๆ คนโอดครวญว่า ไม่รู้จะฝึกพูดภาษาญี่ปุ่นกับใครดี ไม่มีเพื่อนคนญี่ปุ่นเลย อัตตาหิ อัตโนนาโถ ค่ะคุณน้อง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
เทคนิคนี้ เวิร์คมากสำหรับผู้ที่ต้องการฝึกทักษะ Speaking วิธีฝึก ง่ายมากค่ะ เข้าห้อง ล็อคประตู แล้วก็งึมงำๆ ไป โดยพยายามงึมงำเป็นภาษาญี่ปุ่น เช่น "โอ้ เฟสบุ๊ควันนี้ ครึกครื้นกันดีจริง" "เสื้อตัวโปรดชั้นอยู่ไหนล่ะนี่" "วันนี้ ใช้สบู่อาบน้ำอะไรดีนะ"
ข้อดี คือ สมองจะถูกกระตุ้นให้นึกคำศัพท์และใช้คำนั้นบ่อยๆ ส่วนคำไหนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ก็ทดไว้ก่อน หรือรีบเสิร์ชหา จะได้งึมงำเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ต่อไป
ใครเขิน ไม่กล้าพูดคนเดียว ลองคุยกับตุ๊กตาก็ได้ค่ะ หรือถ้าดูเพี้ยนๆ ก็แปะโปสเตอร์ศิลปินดาราญี่ปุ่นที่ชอบๆ แล้วยืนคุยกับโปสเตอร์ก็ได้ (จากดูเพี้ยน จะได้กลายเป็นดูบ้าไปเลย 555) อันนี้ แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลนะคะ
5) เทคนิค Shadowing
เหมาะกับผู้ที่ต้องการฝึกสำเนียงให้เหมือนคนญี่ปุ่น และอยากพูดคล่องๆ วิธีทำ ... เปิดรายการโทรทัศน์หรือวีดีโอ YouTube อะไรก็ได้ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น ได้ยินคำว่าอะไร ก็พูดๆๆๆ ตาม อาจจะไม่เป็นศัพท์ก็ได้ เน้นอารมณ์และเสียงที่เราได้ยินเป็นหลัก เทคนิคนี้ จะช่วยให้เราชินกับความเร็วของภาษาพูดคนญี่ปุ่น และฝึกเทคนิคการฟังไปด้วยในตัวค่ะ
สมัยเรียน ดิฉันชอบฝึก Shadowing กับภาษาของผู้ประกาศข่าว NHK ค่ะ ภาษาจะฟังดูผู้ดีๆ เรียบร้อย ครุคริ (แต่สุดท้าย สำเนียงอีสานคันไซก็กลืนกินสำเนียงผู้ประกาศข่าว NHK ที่ดิฉันอุตส่าห์ฝึกมา ทำให้ภาษาญี่ปุ่นดิฉันตอนนี้ออกแนวป๊ะเทิ่ง ... แนวฮาๆ กระโชกโฮกฮากเล็กๆ ตามสไตล์คนคันไซ)
6) เทคนิคเขียนบล็อก
สำหรับคนชอบขีดเขียนและอยากฝึกทักษะการเขียน ลองเขียนบล็อกเป็นภาษาญี่ปุ่นดูค่ะ อาจลองเขียนเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันก็ได้ หรืออาจเขียนเป็นหัวข้อ โดยใช้คำศัพท์ที่เพิ่งเรียนมาก็ได้ หรือสมมติไปแอบปิ๊งใคร ก็เวิ่นเว้อถึงเขาหรือเธอคนนั้นเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ได้ คนอื่นจะได้ไม่รู้ด้วย แล้วแต่จะสร้างสรรค์กันนะคะ แต่ขอให้ฝึกเขียนออกมาบ่อยๆ ค่ะ
7) เทคนิคจำศัพท์เพลง
มาทางแนวพี่แนน Enconcept เรียนศัพท์จากเพลง ใครชอบฟัง J-Pop อาจจำศัพท์ผ่านเพลงก็ได้ค่ะ ข้อดี คือ จะได้ร้องคาราโอเกะได้อย่างสนุกสนาน ไม่ต้องดำน้ำงึมงำด้วย ได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ ด้วย
ข้อควรระวัง คือ ศัพท์ที่คุณจำได้ อาจหนักไปทางรักๆ ใคร่ๆ คร่ำครวญ หรือสู้ชีวิต พยายามใช้เทคนิคอื่นประกอบด้วยนะคะ
8) เทคนิคอ่านหรือดูการ์ตูน
หาหนังสือการ์ตูนเด็กภาษาง่ายๆ อ่าน เช่น ซาซาเอะ ซัง หรือ จิบิ มารุโกะจัง ใครชอบดูการ์ตูน อาจลองเลือกเรื่องเบาๆ อย่างของค่ายจิบลิ มาเปิดฟัง เปิดดูบ่อยๆ ก็ได้ค่ะ (แต่สำหรับดิฉัน ไม่ค่อยถนัดวิธีนี้ เพราะเนื้อหาหนังสือการ์ตูนเด็กจะเนิบๆไป อ่านแล้วหลับ เลยไปเน้นจำศัพท์ให้ได้เยอะๆ แล้วไปหาหนังสือที่ตัวเองชอบอ่านเอง)
9) เทคนิค Line
หากมีเพื่อนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยกัน ลอง line หากันเป็นภาษาญี่ปุ่นกุ๊กกิ๊กดูก็ได้ค่ะ จะได้เห็นทั้งตัวคันจิ และฝึกวิธีการเขียนเลย
เทคนิคที่เราฝึกอาจเลือกให้เหมาะกับเป้าหมายที่เราวางไว้ เช่น หากอยากเขียนจดหมายรักเป็นภาษาญี่ปุ่นให้ได้ น้องอาจใช้เทคนิคฝึกเขียนบล็อก ผสมกับเทคนิคจำเนื้อเพลง ภาษาญี่ปุ่นของน้องก็จะหวานๆ เลี่ยนๆ ดี เอ้ย...จะได้หวานซึ้งโรแมนติคดี
สำหรับเกตุวดี อยากพูดคุยกับคนญี่ปุ่นเยอะๆ ก็จะชอบเทคนิค Shadowing กับเทคนิคงึมงำค่ะ
3. ให้กำลังใจตัวเองบ่อยๆ
บางครั้งหากเราตั้งเป้าใหญ่ เราอาจเหนื่อยท้อได้ง่าย ลองซอยเป้าหมายเป็นเป้าย่อย แล้วหมั่นตรวจตัวเองว่าไปได้ตามเป้าหมายไหม จะได้ยิ่งสนุกมากขึ้นค่ะ เหมือนใครจะไดเอ็ท ถ้าบอกว่าจะลดน้ำหนัก 10 โล ภายใน 3 เดือน อาจหมดกำลังใจในวันที่ 2 แต่ถ้าเราหมั่นชั่งน้ำหนักทุกวัน เช้าเย็นคอยจดแล้วดูว่าน้ำหนักค่อยๆ ลด ทีละครึ่งกิโลบ้าง สองขีดบ้าง เราก็จะมีกำลังใจในการไดเอ็ทวันถัดๆ ไปมากขึ้นค่ะ
จากเป้าหมายใหญ่ๆ ที่เราตั้งไว้ในข้อ 1. ลองซอยเป็นข้อย่อยๆ ดูนะคะ เช่น ถ้าเป้าหมายของน้อง คือ อ่านการ์ตูนโคนันเป็นภาษาญี่ปุ่นให้ได้! เราอาจซอยย่อยดูว่า ผ่านไป 1 เดือน เราอ่านรู้เรื่องขึ้นมากน้อยแค่ไหน เช่น จากที่เปิดการ์ตูนมาแล้วมึนมาก หลังจากท่องศัพท์อย่างหักโหม
หรือเปิดดิคศัพท์ทุกคำในการ์ตูน แล้วเขียนเป็นการ์ดศัพท์ เรากลับไปอ่านการ์ตูนเล่มเดิมแล้วอ่านรู้เรื่องมากน้อยขึ้นแค่ไหน ให้ลองเปรียบเทียบดูค่ะ ถ้าตั้งใจจริงอย่างน้อยเราอ่านรู้เรื่องขึ้นทีละ 20-30 เปอร์เซนต์ ก็ให้ดีใจกับตัวเอง ชมตัวเองให้กำลังใจตัวเองเข้าไว้ เดือนนึงได้ 20 เปอร์เซนต์ อีกครึ่งปีก็อ่านได้ร้อยเปอร์เซนต์แล้ว
หรือใครฝันอยากเที่ยวญี่ปุ่นได้คล่องๆ เลยฝึกเรียนญี่ปุ่น ลองเปรียบเทียบพัฒนาการตัวเองดูค่ะ ตอนไปญี่ปุ่นปีนี้กับปีที่แล้ว เราอ่านป้ายได้ดีขึ้นไหม อ่านป้ายสถานีที่เขียนเป็นฮิรากานะได้เร็วขึ้นหรือเปล่า
เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่นะคะ ส่วนใครรู้สึกท้อ ขอแนะนำให้อ่านบทความเก่าๆ ที่ดิฉันเคยพูดถึงชีวิตตัวเองตอนเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นค่ะ
บทความจาก : เกตุวดี www.marumura.com