ศธ.ห้ามกวดวิชาขึ้นค่าเรียน ร่อนหนังสือแจ้งทั่วประเทศชะลอปี′58
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กช. ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ธิการ (ศธ.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมหารือกรณี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลโรงเรียนกวดวิชา ทำให้ผู้ปกครองกังวลว่าค่าเรียนกวดวิชาจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อ คลายความกังวลของผู้ปกครองและนักเรียน ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศ ให้ชะลอการขึ้นค่าเรียนกวดวิชาตลอดปี 2558 ทั้งนี้ การขึ้นค่าเรียนกวดวิชาจะต้องเป็นไปตามเพดานที่ สช.กำหนด โดยขณะนี้ยังยึดตาม หลักเกณฑ์เดิม คือโรงเรียนกวดวิชาจะมีกำไรหลังหักต้นทุนได้ประมาณ 20% และจะต้องจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหาข่าว
"โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่งต้องติดป้ายประกาศชัดเจนว่าได้รับอนุญาตจากสช.ให้เปิดสอน โดยจัดเก็บค่าเรียนกวดวิชาแต่ละคอร์ส และแต่ละวิชาราคาเท่าใด เพราะในการ ขออนุญาตเปิดสอน และการกำหนดค่าเรียนกวดวิชานั้น สช.จะพิจารณาตามความเหมาะสม ของค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าอาคาร เงินเดือนครู และรูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งหลังหักต้นทุน จะมีกำไรประมาณ 20% จึงไม่ได้กำหนดเพดานไว้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สช.ได้เข้าสุ่มตรวจอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิด โดยมีโทษทั้งจำและปรับ ส่วนโรงเรียนการกวดวิชาที่เปิดอย่างถูกต้อง แต่ในภายหลังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนสอนที่นอกเหนือจากที่ได้แจ้งขออนุญาตไว้ จะถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน เช่น แจ้งว่าใช้ครูสอน แต่กลับใช้เทคโนโลยีสอนแทน เป็นต้น" นายบัณฑิตย์กล่าว
นายบัณฑิตย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังหารือกรณี ครม.อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร พ.ศ.... ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจ และอากรแสตมป์ ให้แก่โรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียน ดังนั้น ต่อไปโรงเรียนเอกชนใดที่ยังไม่ได้ยื่นตราสาร และโรงเรียนที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องยื่นภาษีในช่วงที่ผ่านมา ต้องเร่งดำเนินการจัดทำ เพื่อประกอบการยกเว้นภาษีโอนกรรมสิทธิ์ โดย พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2554