ศธ.สั่ง สพฐ.ลด′จำนวนนักเรียนต่อห้อง-กิจกรรม′
พล.ร.อ.ณรงค์ พัฒนาศัย
วันที่ 26 มีนาคม พล.ร.อ.ณรงค์ พัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้มีการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อครูต่อห้องใหม่
จากปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)กำหนดจำนวนนักเรียนต่อครูต่อห้อง แบ่งเป็นระดับปฐมวัย 1:30 ระดับประถมศึกษาอยู่ที่ 1:40 ระดับมัธยมศึกษาอยู่ที่ 1:40 โดยที่ประชุมเห็นว่า จำนวนดังกล่าวทำให้ครูไม่สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะช่วงระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญ และครูจำเป็นต้องใกล้ชิดกับเด็ก
ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่าควรกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องใหม่ โดยในระดับปฐมวัย ให้คงเดิมที่ไม่เกิน 30 คนต่อห้อง ส่วนระดับประถม ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 30 คนต่อห้อง เฉพาะระดับมัธยมศึกษาเท่านั้นที่ให้จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 40 คน ทั้งนี้เกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ประกาศใช้ในทันทีในปีการศึกษาหน้า เพื่อให้เวลาโรงเรียนในการปรับตัว
"จากนี้ สพฐ. จะต้องไปปรับลดขนาดห้องเรียนตามเกณฑ์นี้ให้ได้ภายใน 5 ปี เพื่อให้โรงเรียนได้ปรับสภาพ ทั้งนี้การจะปรับขนาดห้องเรียนตามเกณฑ์นี้ได้ จะต้องมีโรงเรียนไว้รองรับนักเรียนที่มาจากโรงเรียนยอดนิยม ซึ่งมีนักเรียนจำนวนมาก ดังนั้นสพฐ. จะต้องไปปรับคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก และขนาดกลางในพื้นที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนดังที่จะต้องเกลี่ยไปที่โรงเรียนอื่น ๆ เมื่อมีการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ชัดเจน โดยปัจจุบัน โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง รับนักเรียนห้องละ 50 คน"
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าว และว่า นอกจากนั้นกมธ.ปฏิรูปฯ ยังเสนอให้ยกเลิกการการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (เอ็นที) ชั้นป.3 และการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่ (ลาส)สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2,4,5,และ ม.1,2,และม.5 ซึ่งเป็นการประเมินภายใน ชั้นที่ไม่ได้สอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต แต่ที่ประชุมเห็นว่าการสอบเอ็นทีป.3 ยังมีความจำเป็น เพราะเป็นการสอบเพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาการเรียนการสอน แต่ลาสไม่จำเป็น เพราะแต่ละโรงเรียนมีการประเมินคุณภาพภายในอยู่แล้ว ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ยกเลิกการสอบดังกล่าวตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป
รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมขอให้สพฐ.ไปปรับลดกิจกรรมนักเรียนลง เพราะปัจจุบันโรงเรียนต่าง ๆ มีกิจกรรมมากเกินไป ทำให้ครู และนักเรียนไม่มีเวลาอยู่ในห้องเรียน โดยที่ผ่านมานักเรียนและครู ต้องออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกห้องเรียนเฉลี่ยปีละ 84 วัน จากเวลาเรียนทั้งหมดประมาณ 200 วัน เท่ากับว่าเด็กใช้เวลาทำกิจกรรม ถึง 40% ขอเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งมากเกินไป ดังนั้น จะต้องไปปรับลดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ เหลือไม่เกิน 10% หรือประมาณ 20 วันของเวลาเรียนทั้งหมด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อบูรณาการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และเรื่องนี้ศธ. จะประกาศเป็นนโยบาย โดยในปีการศึกษา 2558 กิจกรรมของนักเรียนจะต้องลงลดลงเห็นได้ชัด