บล็อกเกอร์รุ่นใหม่ "โซยตี๋" ย่อยเรื่องวิทยาศาสตร์ ให้อ่านง่าย
หนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่อาจจะดูเป็นเรื่องสลับซับซ้อนที่เข้าใจได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกเล่มจะเป็นเช่นนั้น เพราะอยู่ที่การอธิบายขยายความและลีลาของนักเขียนแต่ละคนว่าจะทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย และเรื่องที่ไกลตัวให้คนสนใจได้อย่างไร
หนึ่งในนักเขียนฝีมือดีเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่หันมาจับปากกาเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ลื่นไหลและน่าอ่าน เขาคือเจ้าของนามปากกา "Zoitee โซยตี๋" หรือ ประเสริฐ อัศวประเทืองกุล นักเขียนรุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลมติชนประเภทเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ประจำปี 2014 จากเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์เรื่อง "เดี่ยว"
โซยตี๋ เป็นนักเขียนที่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่แน่นทีเดียว เพราะเขาเรียนจบปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ ด้านรังสีเทคนิค จาก ม.มหิดล ปัจจุบันเป็นนักรังสีการแพทย์ประจำศูนย์รังสีรักษาร่วมพิกัด แผนกรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี
ที่สำคัญประเสริฐ ยังเขียนงานเผยแพร่ผ่านทางเว็บบล็อก zoitee.bloggang.com และเคยได้รับการรวมเล่มมาแล้วในชื่อเรื่องออนไลน์ "เล่น-ซ้อน-ซ่อน-กล" ที่มีคนติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก
จุดเริ่มต้นของการมาเป็นนักเขียนของโซยตี๋ เริ่มจากการเป็นนักอ่านหนังสือหลากหลายแนว
"ตอนเด็ก ๆ ชอบอ่านหนังสือเยอะ ทุกแนว ยกเว้นนิยายรัก (หัวเราะ) ช่วงตอนที่ผมอยู่มัธยม หนังสือนิยายแนววิทยาศาสตร์ค่อนข้างได้รับความนิยมนะ มีทั้งนิตยสาร สำนักพิมพ์ออบิท พวกนิตยสาร มิติที่สี่ และตอนนั้นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์โดยตรงก็มีเยอะ ผมก็อ่านไปเรื่อย ๆ จนไปเจองานสุดยอดที่เป็นหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง สถาบันสถาปนา ที่แปลจากผลงานของ ดร.ไอแซค อาซิมอฟ เป็นนิยายชุดมีหลายเล่ม พวกนิยายจีน ผมก็อ่านนะ จากนั้นก็เป็นพวกนิยายเเปล ของ สตีเฟ่น คิง ไมเคิล ไครชตัน ที่เขียนจูราสสิค ปาร์ค และก็สนใจอ่านงานเทคโน-ทริลเลอร์ ด้วยเป็นแนวเทคโนโลยี แต่เติมความตื่นเต้นหวาดเสียวเข้าไป
ก็อ่านไปเรื่อย ๆ จนเรียนจบมหา"ลัย อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดคิดขึ้นมาว่า อ่านมาเยอะแล้วอยากลองเขียนเองบ้าง อยากเขียน ช่วงนั้นพวกเว็บบอร์ด และเว็บไซต์พันทิปกำลังบูม ผมก็เลยเขียนลงในโลกออนไลน์ก่อน"
แต่แนวหนังสือของโซยตี๋สำหรับเมืองไทย นิยายวิทยาศาสตร์อาจจะอยู่ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ทั้งที่เด็กไทยจะเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์กันมาก แต่หนังสือวิทยาศาสตร์กลับมีให้อ่านเฉพาะหนังสือเรียน ซึ่งโซยตี๋มีคำตอบให้กับเรื่องนี้ว่า
"สมัยนี้วงการนิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน งาน Sci-Fi ในบ้านเราไม่ค่อยบูม อาจจะเป็นเพราะสมัยนี้มีเรื่องลิขสิทธ์เข้ามา พอมีผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม แล้วการซื้อลิขสิทธิ์นิยายวิทยาศาสตร์เข้ามาแปลจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าสมัยก่อนมาก ทำให้มีหนังสือแปลแนวนี้น้อย แม้ว่าเด็กที่เรียนสายวิทย์ในประเทศไทยจะเยอะ แต่คนอ่านอยู่ในวงจำกัด ก็เลยมีหนังสือวิทยาศาสตร์เข้ามาน้อย และคนเขียนงาน Sci-Fi ในบ้านเราก็มีน้อย บ้านเรามีชมรมนิยายวิทยาศาสตร์ไทยนะ มีการจัดกิจกรรมกันบ้างเล็กน้อย มีงานเผยแพร่ทางออนไลน์ แลกเปลี่ยนกันอ่านบ้าง เเต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น"
และที่สำคัญคืองานเขียนวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ทุกคนจะเขียนได้ เพราะต้องมีการสืบค้นข้อมูลและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีนักเขียนแนวนี้มากในตลาดนักเขียนไทย ยิ่งเขียนให้สนุกและน่าติดตามด้วยยิ่งยากเข้าไปใหญ่
"การเขียนงานนิยายวิทยาศาสตร์ต้องมีการสืบค้น และต้องมีหลักการพื้นฐานหลักการวิทย์ มายืนยันสิ่งที่เราเขียนในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นที่ว่าต้องทำการทดลองนะ (หัวเราะ) เพราะยังไงการเขียนนิยายก็ต้องเขียนให้สนุก ถ้ามันไม่สนุก คนก็จะไม่อ่านกัน ต้องปรับน้ำหนักให้ดีระหว่างเนื้อหาสาระวิชาการที่เราใส่เข้าไปกับความสนุกในเรื่อง มันอยู่กับเทคนิคการเขียน ว่าจะเขียนเล่าให้มันน่าสนใจได้อย่างไร ที่จริงไม่มีข้อจำกัดหรือข้อกำหนดใด ๆ มันอยู่กับตัวผู้เขียนมากกว่า คิดว่าตัวเองเขียนออกมาน่าสนใจหรือเปล่า กระตุ้นจินตนาการผู้อ่านหรือเปล่า แค่นั้น" นักเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์อนาคตไกลอธิบายและหวังว่า นิยายวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
แม้ขณะนี้มีหนังสือแปลเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น มีงานประกวดงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลาย มีพื้นที่การแสดงออกในวงกว้าง จะเป็นการกระตุ้นให้มีนักเขียนรุ่นใหม่สร้างผลงานนิยายวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยกันมากขึ้น