อนาคตการศึกษาไทย ต้องคืน "ครูคุณภาพดี" สู่ห้องเรียน
ไม่นานผ่านมา บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จัดงานสัมมนา"Education for the Future : ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต" โดยมี "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประเทศไทยกับอนาคตใหม่ทางการศึกษา" ซึ่งได้เสนอทางออกของการศึกษาไทยไว้หลายแนวทางด้วยกัน
เบื้องต้น "ดร.สมเกียรติ" ฉายภาพถึงครูอันเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างยิ่งของการศึกษา โดย 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยปรับเพิ่มเงินเดือนครูเกือบ 2 เท่าหมายความว่าเงินเดือนครูไทยไม่ใช่ปัญหาของการศึกษาไทย เพราะจากการแยกบัญชีเงินเดือนของครูออกมา พบว่าไม่ได้มีแผนตอบแทนที่ต่ำกว่าอาชีพอื่น
ขณะเดียวกัน เด็กไทยชั้นประถมศึกษาใช้เวลาในห้องเรียน 1,000 ชั่วโมง/ปี สูงกว่าชั่วโมงเรียนเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีเวลาอยู่ในห้องเรียน 791 ชั่วโมง/ปี ส่วนเด็กไทยชั้นมัธยมศึกษามีชั่วโมงเรียนสูงถึง 1,200 ชั่วโมง/ปี นับเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD โดยอยู่ที่ 907 ชั่วโมง/ปี
"การปฏิรูปการเรียนรู้ต้องคืนครูสู่ห้องเรียน ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย แม้ว่าจะมีเด็กอยู่ในห้องเรียนปีละ 1,000-1,200 ชั่วโมง แต่คุณครูไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอย่างที่ควรจะอยู่ เพราะความเป็นจริงแล้วครูใช้เวลากับกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนประมาณ 42% หรือ 84 วัน เมื่อนับจากวันเปิดเรียน 200 วัน หากคิดว่านักเรียนอยู่ในห้องเรียน 1,000 ชั่วโมง แต่ได้เจอครูเพียง 60% เวลา 1,000 ชั่วโมง ก็เหลือเพียง 600 ชั่วโมง"
สำหรับกิจกรรมที่ครูใช้นอกห้องเรียนมากที่สุด มาจากการใช้เวลากับการประเมินจากหน่วยงานภายนอก ทั้งจากสำนักงานรับรองมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และการประเมินตัวครูเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการประเมินนักเรียน โดยการให้นักเรียนไปสอบแข่งขันต่าง ๆ
ทั้งนี้ การประเมินโรงเรียนโดย สมศ. เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาและเงินทุนมาก การจ้างผู้ตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนในแต่ละรอบตลอด 5 ปี ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท และไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพดีมาก ดี หรือพอใช้ เมื่อประเมินออกมาข้อเสนอแนะออกมาคล้าย ๆ กัน
"ข้อเสนอจะบอกว่า โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น เพื่อสามารถใช้กับชีวิตประจำวันได้ และพัฒนาทักษะการคิด ทำให้เกิดความสุขในชีวิต ผลการประเมินแบบนี้ไม่ต้องไปเยี่ยมโรงเรียนก็สามารถเขียนได้ตั้งแต่ก่อนไปแล้ว ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีผลการประเมินต่างกัน แต่คำแนะนำกลับเหมือนกัน"
"ดร.สมเกียรติ" แนะว่า การปรับห้องเรียนเปลี่ยนอนาคตต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนระบบการประเมินสถานการศึกษา เพราะปัจจุบันเป็นการประเมินโดยตรวจเอกสารเป็นหลัก ทำให้ครูต้องใช้เวลานานมากในการเตรียมเอกสารต่าง ๆ โดยอาจมองได้ว่าห้องเรียนจริงเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับเขียนลงไปในกระดาษว่าห้องเรียนเป็นอย่างไร ก็เหมือนกับการใช้กระดาษหลอกกันไปกันมา
ทั้งนั้น การคืนครูสู่ห้องเรียนต้องคืนครูที่พร้อมและเก่งกลับสู่ห้องเรียนด้วย ซึ่งใน 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณ 1.8 แสนคน และจะมีการรับครูใหม่เข้ามาทดแทน 1.2 แสนคน ถือว่าเป็นโอกาสการถ่ายเลือดครั้งใหญ่ โดยการสอบแข่งขันครูทุกวันนี้แข่งขันกันสูงมาก เนื่องจากผลตอบแทนที่มากขึ้น เมื่อปี 2557 มีผู้สอบบรรจุเป็นครูประมาณ 1 แสนคน ขณะที่ตำแหน่งบรรจุมีเพียง 1,880 คน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการแข่งขันสูงแค่ไหน คงไม่ได้ครูที่ดีเข้าสู่ห้องเรียน เพราะการคัดเลือกครูยังใช้การสอบข้อเขียนเป็นหลัก ซึ่งครูที่เข้าไปสอนอาจมีความรู้ แต่ไม่ทราบเลยว่าเขามีทักษะการสอนดีหรือไม่ มีทัศนคติดีพอหรือไม่ เพราะไม่มีการดูผลงานหรือดูประวัติ แม้มีการสัมภาษณ์แต่ไม่ได้ใช้ผลของการสัมภาษณ์จริง ๆ
ขณะเดียวกัน เขตการศึกษาต่างออกข้อสอบคัดเลือกครูกันเอง บางเขตออกข้อสอบล่วงหน้าเพียง 2-3 วันเท่านั้น หรือบางเขตตั้งใจออกข้อสอบให้ง่ายเป็นพิเศษ เพราะกลัวว่าจำนวนผู้ผ่านการสอบคัดเลือกมาเป็นครูไม่เพียงพอ ดังนั้น ต้องเพิ่มมาตรฐานการสอบคัดเลือกครูให้สูงขึ้นด้วยการปรับให้ออกข้อสอบแบบรวมศูนย์
หลังจากนั้น ครูที่ผ่านการคัดเลือกจึงมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้โรงเรียนทำการสัมภาษณ์ ซึ่งโรงเรียนจะคัดเลือกครูตามลักษณะที่ต้องการ โรงเรียนที่มีความพร้อมแล้วอาจจะได้ครูที่เก่งในแต่ละวิชา แต่โรงเรียนที่ขาดแคลนครูอย่างโรงเรียนในท้องที่ห่างไกลครู 1 คนจะต้องสอนนักเรียนหลายชั้นหรือหลายวิชา ดังนั้น โรงเรียนย่อมต้องการครูที่มีควาสามารถในการสอนหลายชั้นและหลายวิชาได้ด้วย
"การที่โรงเรียนสามารถคัดเลือกครูได้เอง จะทำให้ได้ครูตรงกับความต้องการมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในวิชาที่ขาดแคลนครูอย่างมากเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็ควรให้โอกาสผู้มีทักษะด้านนี้เข้าร่วมสอบด้วย แล้วค่อยไปสอบใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาขาดแคลนครูในสาขาที่สำคัญ"
"ดร.สมเกียรติ" กล่าวว่า นอกจากคืนครูสู่ห้องเรียน และคัดเลือกครูที่ดีแล้ว ต้องบริหารจัดการห้องเรียนให้ดีด้วย โดยเชื่อมโยงกับระบบการให้รางวัลครู ทั้งการเลื่อนเงินเดือน และเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งปัจจุบันมีตัวชี้วัดที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็น
ยกตัวอย่างการเลื่อนวิทยฐานะ จะพิจารณาจากเรื่องต่าง ๆ เช่น ทักษะการสอน จริยธรรม สิ่งน่าสนใจคือดูจากผลการเรียนของนักเรียนเพียง 3% ขณะที่ดูจากเรื่องผลงานวิชาการถึง 13% ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเห็นครูที่อยากมีความก้าวหน้าในอาชีพต้องไปทำงานวิชาการ หรือเขียนบทความวิชาการของตนมากกว่าที่จะพัฒนาการสอนในห้องเรียน
ทั้งนี้ อีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยปรับปรุงห้องเรียนและปรับปรุงการเรียนการสอนได้คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษาซึ่งจะสามารถยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนได้ แม้เวลาที่เด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียนก็ตาม