สาดน้ำ งานสงกรานต์ เริ่มมีในพม่า?...และไม่ใช่ปีใหม่ไทย?

สาดน้ำ งานสงกรานต์ เริ่มมีในพม่า?...และไม่ใช่ปีใหม่ไทย?

สาดน้ำ งานสงกรานต์ เริ่มมีในพม่า?...และไม่ใช่ปีใหม่ไทย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาดน้ำ งานสงกรานต์ เริ่มมีในพม่า?

คอลัมน์ On History โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ


สงกรานต์ ไม่ใช่ประเพณีของไทยเป็นการเฉพาะ พม่า ลาว เขมร เขาก็มีสงกรานต์เหมือนอย่างไทยเราด้วยเหมือนกัน

สงกรานต์ จึงไม่ใช่ ปีใหม่ไทย อย่างที่มักมโนกันขึ้นมาเองอย่างลอยๆ

แค่คำว่า สงกรานต์ ก็ไม่ใช่คำไทยแล้วเถอะครับ แต่เป็นคำยืมมาจากภาษาสันสกฤตคือ "สังกรานตะ" ที่แปลว่า "การข้ามผ่าน"

ในที่นี้หมายถึงการข้ามผ่านจากเดือนหนึ่งไปสู่อีกเดือนหนึ่งดังนั้นการข้ามผ่านจากเดือนสุดท้ายของปีเก่าไปเป็นเดือนแรกของปีใหม่ในแต่ละปีจึงไม่ได้เรียกว่า สงกรานต์ เฉยๆ แต่เรียกว่า "มหาสงกรานต์"

เพราะนอกจากจะเป็นการข้ามผ่านจากเดือนเก่าไปสู่เดือนใหม่แล้ว ยังหมายถึงการข้ามผ่านจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ด้วย

เทศกาลสงกรานต์แบบที่เข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้จึงหมายถึงช่วงมหาสงกรานต์นั่นเอง

การที่ชาวสยามนับช่วงระยะประมาณเดือน"เมษายน" เท่ากับ "เดือนห้า" มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าไม่ได้เป็นเดือนแรกในแต่ละรอบปี เพราะเดือนแรกของปีคือ "เดือนอ้าย" ซึ่งตรงกับช่วงเวลาประมาณเดือน "ธันวาคม" ตามปฏิทินแบบอธิกสุรทินแบบที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น แต่ดั้งเดิมชาวสยามจึงนับช่วงเวลาประมาณเดือนธันวาคมเป็นช่วงเริ่มต้นของรอบปีใหม่ รอบฤดูกาลใหม่ต่างหากนั่นเอง

ประเพณีดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองสุวรรณภูมิจะมีการลอยกระทงลอยโคมหรือโล้ชิงช้านัยว่าเป็นการไล่น้ำและไล่ลมแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ เพราะในช่วงเวลาก่อนหน้าคือเดือนสิบเอ็ด และเดือนสิบสอง (ประมาณช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) ของแต่ละปี จะเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก จนมีคำร้องเล่นกันมาแต่โบราณ แต่หาอายุสมัยที่แน่นอนไม่ได้ว่าร้องกันมาแต่เมื่อไหร่ว่า

"เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่น้ำก็รี่ไหลลง"

คำร้องเล่นข้างต้นบอกเล่าถึงสภาวการณ์ทางธรรมชาติที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตต่อคนในสังคมโดยเฉพาะการผลิตอาหารกักตุนไว้ใช้เป็นเสบียงในแต่ละปี

แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงสภาพการณ์เฉพาะของกลุ่มคนที่อยู่ทางแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและเครือข่ายทางภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันเท่านั้นในพื้นที่บริเวณอื่นซึ่งได้รับผลกระทบของลมมรสุมซึ่งยังผลให้เกิดการปรากฏการณ์ทางธรรมชาติไม่เหมือนกันและมีรอบของฤดูกาลแตกต่างกันก็จะนับรอบปีและรอบฤดูกาลแตกต่างออกไป

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่เครือข่ายทางวัฒนธรรมของล้านนามาก่อน จะนับรอบปีเร็วกว่าพื้นที่ทางภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันราวสองเดือน

พูดง่ายๆว่าในขณะที่พื้นที่ภาคกลางไม่ว่ายุคกรุงเทพฯหรือยุคอยุธยากำลังมีพิธีการลอยกระทงในระยะน้ำนองเต็มตลิ่งช่วงเดือนสิบสอง ทางล้านนาก็ได้เริ่มลอยโคมควัน "ยี่เป็ง" ที่แปลตรงตัวว่า วันเพ็ญเดือนยี่ ไปแล้ว เพราะลมมรสุมที่พัดพาเอาความอุดมสมบูรณ์ของฤดูกาลผลิตใหม่ได้มาถึงภาคกลางแล้วราวสองเดือน

เช่นกันกับหลายๆพิธีในสยามประเทศแห่งนี้นี่แหละนะครับลอยกระทงก็เป็นพิธีพื้นเมืองในอินเดียเขาไม่ลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคากันเสียหน่อยแต่พิธีลอยกระทงก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพราหมณ์แบบไทยๆ ไปด้วยปกรณัมที่ถูกสร้างขึ้นใหม่

ก็อุษาคเนย์มีแม่น้ำคงคากับเขาที่ไหนกันล่ะครับแล้วจะเคยไปมีพระแม่คงคาที่เป็นบุคคลาธิษฐานของแม่น้ำสายดังกล่าวให้ขอขมาไปได้อย่างไรกัน?

เทศกาลสงกรานต์ของสยามก็เป็นเช่นเดียวกันกับกรณีศึกษาต่างๆเหล่านี้เราเอาคติพราหมณ์อินเดียมาเป็นที่ตั้งสยามประเทศแห่งนี้จึงเคยมีเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่เมื่อขึ้นเดือนห้านั่นเอง

"การสาดน้ำ" ในเทศกาลสงกรานต์เองก็เป็นเรื่องพื้นเมืองสุวรรณภูมิ

ในอินเดียไม่มีการสาดน้ำ หรือรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เสียหน่อย (และถ้ามีทำไมจึงต้องรดน้ำดำหัวบรรพบุรุษ ผิดธรรมดาพราหมณ์ที่มักสรงน้ำเทพเจ้ามากกว่า?)

การสาดน้ำจึงไม่เคยเกี่ยวข้องกับการขึ้นปีใหม่อย่างพราหมณ์มาก่อนเลย

แต่ช่วงกลางเดือนเมษายนในอุษาคเนย์ใครก็เถียงไม่ได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ร้อนจนตับแลบถ้าจะมีใครประดิษฐ์ประเพณีที่สาดน้ำกันดับร้อนก็ไม่เห็นจะแปลกเลยสักนิด?

น่าสนใจว่าในหนังสือทวาทศมาศคือตำราว่าด้วยประเพณีสิบสองเดือนของสยามไม่มีที่พูดถึงเรื่องการสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์เลยสักนิด(จะมีก็แต่พิธีสรงน้ำมนต์ให้ช้างหลวงในพิธีคเชนทรัศวสนาน เดือนห้า ซึ่งก็หมายถึงการสาดน้ำให้ช้างในเดือนที่ร้อนสุดจะทานทนนั่นเอง)

เช่นเดียวกับหลักฐานในลาวและกัมพูชาทั้งๆที่ตำราพวกนี้ก็มีรายละเอียดอธิบายถึงพระราชพิธีในแต่ละเดือนนั่นแหละ

อย่างน้อยที่สุดตำราเล่มท้ายๆที่ว่าด้วยเรื่องประเพณีประจำเดือนพวกนี้ก็คือพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่5 และตีพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อเรือน พ.ศ.2455 หรือเมื่อประมาณ 103 ปีที่แล้ว ก็ยังไม่ได้พูดถึงการสาดน้ำเลยสักนิด

แต่ก็ใช่ว่าเทศกาลสงกรานต์แต่เก่าก่อนในอุษาคเนย์จะไม่มีการสาดน้ำเอาเสียเลยเพราะมีหลักฐานว่าในเทศกาลตะจาน(Thingyan)ซึ่งก็คือคำว่าสงกรานต์ ตามสำเนียงถิ่นพม่า มีการสาดน้ำมาก่อนอย่างน้อยก็เก่ากว่าที่พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนจะตีพิมพ์ออกมาแล้ว

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อว่าThe Graphic ของสหราชอาณาจักร ได้ตีพิมพ์ภาพพิมพ์รูปการละเล่นสาดน้ำในประเพณีปีใหม่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ.2431 หรือ 24 ปีก่อนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ฉบับนั้น (อย่างไรก็ตาม ควรจะสังเกตไว้ด้วยว่า ภาพนี้ถูกตีพิมพ์ใน The Graphic ฉบับประจำวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2431 หมายความว่า ภาพพิมพ์นี้อาจจะถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2430 แล้วก็ได้) จะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา โดยมีคำบรรยายใต้ภาพเอาไว้ว่า

"ปีใหม่ของชาวพม่า มุมที่อบอุ่นในเมืองมัณฑะเลย์ระหว่างเทศกาลสาดน้ำ" (The Burmese New Year, A warm corner in Mandalay during water festival.)

ในปัจจุบันชาวพม่าอธิบายว่าการสาดน้ำในเทศกาลตะจาน เป็นสัญลักษณ์ของการขับไล่และล้างบาปไปจากตัวผู้ที่ถูกสาด และก็อ้างย้อนกันไปว่าในยุคเก่าก่อนก็เชื่อกันอย่างนั้นด้วย

แต่จะเป็นแบบที่อ้างกันอย่างนี้จริงๆหรือครับ?

สิ่งที่สมควรนำมาพิจารณาร่วมด้วยเป็นอย่างยิ่งก็คือการที่ภายหลังจากอังกฤษขับพระเจ้าสีป่อลงจากราชบัลลังก์เมื่อพ.ศ.2429สองปีเศษก่อนมีภาพชาวพม่าสาดน้ำใส่ทหารอังกฤษในวาระปีใหม่อย่างอบอุ่น (?) อังกฤษเริ่มปกครองพม่าในฐานะจังหวัดหนึ่งของอินเดีย

สังคมดั้งเดิมของพม่าถูกแทนที่ด้วยการปกครองที่แยกศาสนาออกจากการเมืองเกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือซึ่งแน่นอนว่ามีเมืองมัณฑะเลย์เป็นศูนย์กลางในฐานะราชธานีเดิมของพระเจ้าสีป่อสภาพการณ์เช่นนี้ยังคงมีต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี

แน่นอนว่า ช่วงปี พ.ศ.2430-2431 พม่ายังอยู่ในระหว่างบรรยากาศทางการเมืองดังกล่าว และเมื่อนำมาประกอบกับข้อมูลที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "เที่ยวเมืองพม่า" ว่าในพม่ามีประเพณีการสาดน้ำ โดยจะสาดใส่ฐานพระเกศธาตุ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรตที่ยังวนเวียนอยู่ในโลกนี้ (ถึงแม้ว่าทางพม่าจะพยายามลากความว่า การสาดน้ำในเทศกาลตะจานนี้มีความเก่าแก่ไปถึงยุคพุกาม เมื่อราว พ.ศ.1600-1800 แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือและหนักแน่นมากนัก)

ผมจึงไม่แน่ใจว่า ทหารอังกฤษในภาพพิมพ์นายนั้นจะกำลังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยการสาดน้ำในเทศกาลตะจานสักเท่าไรนัก?

อย่างไรก็ตามหลักฐานการสาดน้ำในเทศกาลตะจานของพม่าก็เผยให้เห็นร่องรอยว่าทำไมการสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์แบบที่พัฒนาไปสู่การสาดน้ำแบบรุนแรงในปัจจุบันอย่างการนำถังน้ำขึ้นท้ายรถกระบะไปสาดน้ำเล่นกันรอบเมือง การใช้ปืนฉีดน้ำแรงสูง ฯลฯ จึงเกิดขึ้นในล้านนา ที่ใกล้ชิดกับพม่ามากกว่ากรุงเทพฯ มาก่อน ตั้งแต่ช่วงก่อน พ.ศ.2500

และเมื่อการสาดน้ำแบบที่ว่าแพร่หลายมาถึงกรุงเทพฯ แล้วจึงค่อยกระจายออกไปยังประเทศลาว และกัมพูชา

ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความแพร่หลายของการเล่นสาดน้ำอย่างรุนแรงแบบนี้ สัมพันธ์อยู่กับรัฐที่เป็นเผด็จการ หรือมีความกดดันทางการเมืองค่อนข้างสูง

ไม่น่าแปลกใจเลยนะครับ ที่การสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์บ้านเรามีแต่แนวโน้มที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์10เมษายน 2558

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook