10 สิ่งที่มักทำผิดพลาด เมื่อสมัครเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
วันนี้เรามีข้อมูลเด็ด ซึ่งคาดว่าใครที่อยากจะเรียนต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาน่ารู้เอาไว้อย่างมากเลยครับ เพราะเหล่าเจ้าหน้าที่พิจารณารับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียน จะมาบอกถึงเรื่องที่เรามักทำผิดพลาดตอนสมัครเรียน จนทำให้ทางมหาวิทยาลัยนั้นเลือกที่จะไม่รับเราเข้าเรียนนั่นเอง
1. ใส่ข้อมูลในใบสมัครมาผิด
บางครั้งการกรอกข้อมูลใบสมัคร ต้องอ่านให้ครบถ้วนและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เคยมีครั้งหนึ่งที่เป็นช่องให้ระบุเลขวีซ่า แต่คนสมัครกลับใส่เลขเครดิตการ์ดลงไปแทน
2. ไม่ยอมรับผิดชอบการสมัครเรียนเอง
การสมัครเข้าเรียน ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่นักเรียนจะต้องติดตาม และทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่เขาต้องคุยกับแม่ของผู้สมัครทางโทรศัพท์กว่า 15 ครั้ง โดยที่ผู้สมัครไม่ยอมมารับทราบรายละเอียดเอง ทำให้คนพิจารณาไม่เห็นความตั้งใจจริงของผู้สมัคร
3. เรซูเม่มีความยาวเกินไป
สำหรับการสมัครเข้าเรียน เขาบอกว่าไม่จำเป็นเลยที่เรซูเม่จะต้องยาวถึง 3 หน้ากระดาษ ขอเพียงเป็นหน้าเดียวที่บอกได้อย่างชัดเจนก็คงเพียงพอแล้ว
4. เอกสารรายละเอียดพิมพ์ผิดๆถูกๆ
การนั่งตรวจสอบเอกสารทุกชิ้นที่ส่งไปในการสมัครเรียน ว่าข้อมูลถูกต้อง พิมพ์ถูกผิดแค่ไหน มีคำไหนที่ต้องแก้หรือไม่ ก็ช่วยให้คณะกรรมการพอใจและชื่นชมกับความตั้งใจของผู้สมัครได้เช่นกัน
5. ส่งใบสมัครในวันสุดท้าย
นักศึกษาหลายคนส่งใบสมัครในวันสุดท้าย ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดพอสมควร อย่างแรกคือคนที่ส่งใบสมัครมาก่อน ดูจะเป็นคนที่สนใจและใส่ใจกว่า กับอีกเรื่องคือ ถ้ามีข้อผิดพลาดในใบสมัคร ก็แทบจะไม่มีโอกาสแก้ไขมันให้ถูกได้เลย
6. เขียน Essay ซ้ำๆ
ในการเขียน Essay ประกอบการสมัครเข้าเรียนต่อ หลายคนทำพลาดตรงที่เขียนเรื่องซ้ำๆ วนไปวนมา ขึ้นย่อหน้าใหม่ก็เรื่องหนึ่ง แต่พอย่อหน้าถัดไปก็กลับมาประเด็นเดิมๆ ควรใส่เนื้อหาใหม่แยกกันลงไปเลย
7. ถามคำถามให้ถูกวิธี
ก่อนการได้รับเลือกเข้าเรียน คณะกรรมการจะเปิดโอกาสในผู้สมัครได้มีโอกาสสอบถามเรื่องที่อยากรู้ เราก็ควรจะถามถึงเรื่องสำคัญในมหาวิทยาลัย อย่างรูปแบบวัฒนธรรม การใช้ชีวิตระหว่างเรียน และงดการถามคำถามง่ายๆที่ไม่ค่อยเหมาะสม เกรดผมเท่านี้จะเข้าเรียนได้ไหม
8. เขียนให้รู้ว่าเราอยากเข้าเรียน
การเขียนถึงมหาวิทยาลัยที่เรากำลังสมัครเรียน พร้อมกับบอกเหตุผลของเรา รวมถึงข้อดีของสถาบันที่จะเหมาะสมกับเรา ทำให้ใบสมัครของเราโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเขียนรูปแบบเดียวให้สามารถใช้ได้กับทุกสถาบัน เพราะมันจะกลายเป็นใบสมัครธรรมดาไปนั่นเอง
9. โฟกัสไปที่หลากหลายกิจกรรมจนเกินไป
แน่นอนว่าการเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย จะมีกิจกรรมหลากหลายให้เราทำ และหลายคนก็ทำได้ดีหลายอย่าง แต่คณะกรรมการต้องการที่จะเห็นผู้สมัครแสดงความตั้งใจ ความสนใจในกิจกรรมสุดโปรดของตนเองเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่ามันจะดูเกินจริงไปนิด แต่ก็ขอให้แสดงออกมา
10. ไม่ผ่านคุณสมบัติที่ต้องการบางอย่าง
นี่อาจจะเป็นเรื่องเศร้าที่สุดของคณะกรรมการ เมื่อพบว่านักศึกษาที่ดูดี พร้อมกับการเข้าเรียนทุกอย่าง แต่บังเอิญว่าคะแนนของการทดสอบอย่างหนึ่งที่ต้องการนั้นขาดหายไป 5 คะแนน จึงเป็นเรื่องที่นักศึกษาต้องตรวจสอบให้ดีก่อนยื่นสมัครแต่ละที่
ขอบคุณข้อมูลจาก www.wegointer.com