"DPU" เปิดเกมรุกดึง นศ.จีน ปั๊มยอดสู่ 3,000 คนใน 5 ปี

"DPU" เปิดเกมรุกดึง นศ.จีน ปั๊มยอดสู่ 3,000 คนใน 5 ปี

"DPU" เปิดเกมรุกดึง นศ.จีน ปั๊มยอดสู่ 3,000 คนใน 5 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสคนจีนที่แห่เข้ามาในไทยไม่ได้เห็นชัดเจนเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ในแวดวงของมหาวิทยาลัยจะเห็นสัดส่วนของนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับนักศึกษาจากชาติอื่น ดังนั้นเพื่อรับกับกระแสที่เกิดขึ้นจึงทำให้มหาวิทยาลัยของไทยต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน ทั้งส่วนของหลักสูตร หรือ

สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ให้ความสำคัญกับกระแสดังกล่าว โดยปัจจุบันมีนักศึกษาจีน 1,463 คน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยที่มีทั้งหมด 1,526 คน

"รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์บอกว่า ตั้งเป้าอีก 5 ปีจะต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาจีนเป็น 3,000 คน และจะไม่เกินไปกว่านี้ เนื่องจากการรับนักศึกษาจีนจะมีเรื่องการดูแลอื่นๆ โดยมีแพ็กเกจเสริมนอกเหนือจากการเรียน อย่างที่พักอาศัย โดยมหาวิทยาลัยจะมี 6 หอพักรองรับ ซึ่งเป็นหอพักที่ปลอดภัย รวมถึงต้องมีการรองรับเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติม

"ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่ของนักศึกษาจากจีนจะมาดูที่เรียนและที่พักให้กับลูกด้วย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทุกด้าน และมีมาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้าเรียน ซึ่งในแต่ละปีจีนไม่สามารถรับนักเรียนเพื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาได้หมด เพราะสถานที่เรียนไม่เพียงพอ โดยคิดเป็นนักเรียนส่วนนี้ปีละ 10 ล้านคน ทำให้พวกเขาต้องไปหาที่เรียนต่างประเทศ"

สำหรับการดึงดูดนักเรียนจีนเข้ามาเรียนต่อจะเป็นเรื่องของการทำ MOU รวมถึงมีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา โดย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ได้ทำ MOU กับมหาวิทยาลัยจีนกว่า 20 แห่งเช่น Renmin University of China, Xiamen University เป็นต้น รวมถึงกลุ่มเครือข่ายอื่น ๆ ต่อเนื่อง

"เด็กที่มาเรียนกับเรา เมื่อกลับไปมีการบอกต่อเพื่อนฝูง ผมมองว่าการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปากแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญและได้ผลอย่างมาก นอกจากนั้นการประชาสัมพันธ์ของเราในประเทศจีนค่อนข้างดีมาก เพราะมีเพื่อนในเครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุของจีน อีกทั้งชื่อของเราที่เป็นภาษาจีนหมายถึง ความรุ่งโรจน์ของการเรียนรู้ ถือเป็นความหมายดี ทำให้คนจีนสนใจแบรนด์เราเยอะ"

นอกจากนั้น "รศ.ดร.วรากรณ์" มองเพิ่มเติมว่า การมุ่งตลาดนักศึกษาจีนจะช่วยทำให้แบรนด์มหาวิทยาลัยเป็นสากลมากขึ้น นอกจากการวางเกมดึงนักศึกษาจีน มหาวิทยาลัยยังสร้างบรรยากาศ และกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับความเป็นจีน อย่างการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันภาษาจีนเพชรยอดมงกุฎ อันเป็นการแข่งขันสอบภาษาจีน รวมถึงโครงการมหาวิทยาลัยพี่ โรงเรียนน้อง-จีน

"เรามองว่าเมื่อมีความเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว ควรยื่นโอกาสให้เด็กที่เรียนภาษาจีนเก่งมากขึ้น รวมถึงเด็กที่ไม่รู้ภาษาจีนมาก่อนก็สามารถมาเริ่มต้นเรียนได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานกับเขาเมื่อจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย โดยเราร่วมมือกับ 10 โรงเรียนจัดแคมป์กิจกรรมและการเรียนภาษาจีน นอกจากนั้น โรงเรียนสามารถยืมอาจารย์ไปสอนนักเรียน ทั้งยังช่วยให้คำแนะนำเรื่องหลักสูตรการสอน"

ขณะเดียวกัน จะมีการมอบทุนการศึกษาในการเข้าเรียนต่อหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนในคณะศิลปศาสตร์ และ CHINA-ASEAN International College (CAIC) โดย "รศ.ดร.วรากรณ์" มองว่าเป็นการเปิดโอกาสสำคัญให้กับนักเรียน และเป็นการเชื่อมต่อสัมพันธไมตรีกับโรงเรียน อันจะส่งผลดีต่อการเพิ่มจำนวนนักศึกษาใหม่ด้วยทั้งนั้น หลากทิศทางการเดินหน้าของมหาวิทยาลัยจะช่วยเสริมแบรนด์เรื่อง "จีน" ของ "ม.ธุรกิจบัณฑิตย์" ให้แข็งแกร่งและเด่นชัดทั้งระดับประเทศและสากล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook