คณะมัณฑนศิลป์ เปิดสอนที่ไหน เรียนเกี่ยวกับอะไร
มีน้องหลายคนถามกันเข้ามาว่า "คณะมัณฑนศิลป์" มีที่ไหนเปิดสอนบ้าง และเรียนเกี่ยวกับอะไร
ความจริงแล้วชื่อ "คณะมัณฑนศิลป์" มีที่ "มหาวิทยาลัยศิลปากร" ที่เดียวค่ะ แต่ที่มหาวิทยาลัยอื่นๆตอนนี้มีเปิดสอนเกี่ยวกับด้านออกแบบที่หลากหลายนะคะ มีหลายที่มาก เพียงแต่ไม่ได้ชื่อ คณะมัณฑนศิลป์ อาจจะอยู่ในคณะอื่น แต่สาขามัณฑนศิลป์ หรือมีชื่อเรียกอื่นค่ะ
ตัวอย่าง มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับด้านนี้ เช่น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ม.ธรรมศาสตร์
ม.เกษมบัณฑิต
ม.รังสิต
ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ม.อัสสัมชัญ
ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอบเกล้าคุณทหารลาดกระบัง
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
ปัจจุบันคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร เปิดสอน
ปริญญาตรี 7 สาขาวิชา คือ
สาขาการออกแบบภายใน
สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์
สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์
สาขาประยุกตศิลปศึกษา
สาขาเครื่องเคลือบดินเผา
สาขาการออกแบบเครื่องประดับ และ
สาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย
ปริญญาโท 5 สาขาวิชา ได้แก่
สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์
สาขาประยุกตศิลปศึกษา
สาขาเครื่องเคลือบดินเผา
สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และ
สาขาการออกแบบเครื่องประดับ
ในหลักสูตรคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า
ชั้นปีที่1 ทุกภาควิชาจะต้องเรียนเหมือนกัน ก็คือรายวิชาทักษะพื้นฐาน เช่น รายวิชาวาดเส้น วิชาออกแบบ วิชาศิลปะไทยปริทัศน์ ที่เราจะต้องออกไปดูคุณค่าความงามของสถาปัตยกรรมในประเทศไทยต่างๆ เหมือนกับเป็นวิชาท่องเที่ยวนะ
แต่จริงๆ แล้วจะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณาจารย์มาถ่ายทอดว่าความงามของศิลปะหรือสถาปัตยกรรมมันส่งเสริมต่อโลกยุคปัจจุบันนี้ยังไง ก็ทำให้มีความภาคภูมิใจกับคนในชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้วิชาเหล่านี้จะปูพื้นให้เกิดรสนิยมแล้วก็เกิดคุณภาพทางการออกแบบที่สร้างสรรค์หรือเป็นภาระความรับผิดชอบของหลักสูตรที่ทำให้เด็กๆ ติดตัวจนนักศึกษาโตขึ้นไป
เพราะฉะนั้นปีที่ 2-3 จนถึงชั้นปีที่ 4 ก็จะเป็นรายวิชาที่นักศึกษาจะต้องเรียนนอกจากศิลปะ เช่นวิธีในการสร้างสรรค์ เรื่องของเหตุผลในการออกแบบ เรื่องของรายวิชาพื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรมเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นวิชาโครงสร้าง วิชาออกแบบเครื่องเรือน วิชาออกแบบย่อยต่างๆ
ซึ่งก็จะมีประกอบในวิชาเลือกมากมาย ด้วยความที่อาจารย์ในหลักสูตรมีความสามารถที่หลากหลาย มีทั้งเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม มีทั้งเป็นนักวิชาการ แล้วก็เป็นนักออกแบบอาชีพมาอยู่รวมกัน จึงทำให้มีองค์ความรู้อยู่มากมายแล้วก็พร้อมจะถ่ายทอดให้นักศึกษาของเราได้อย่างดี
พอถึงในชั้นปีที่4 ก็จะมีรายวิชาที่เรียกว่าศิลปะนิพนธ์หรือว่าทีสิสซึ่งก็จะเป็นสนามประลองสุดท้ายแบบฝึกหัดสุดท้ายก่อนที่นักศึกษาจะจบออกไปทำงาน โดยที่นักศึกษาก็จะได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง แล้วก็สามารถจะนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของตนเองออกสู่สาธารณะชน
โดยที่เรามีข้อกำหนดว่างานจะต้องเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชนด้วยโดยการจัดแสดง ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้นักศึกษารู้จักภาระรับผิดชอบที่ตัวเองมีต่อสังคมด้วย