ดีเดย์ปรับเวลาเรียนภาค1/58 ให้ร.ร.จัดโครงสร้างเอง
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงเรียนเนื่องในวันเปิดภาคเรียนวันแรกของปีการ ศึกษา 2558 ที่โรงเรียนอนุบาลสามเสน และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ว่า ภาพรวมการเปิดภาคเรียนวันแรกเรียบร้อย ที่ผ่านมาได้กำชับให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั้ง 225 เขตเตรียมความพร้อม โดย 2 สัปดาห์แรกให้ผู้อำนวยการโรงเรียนยืนรอรับนักเรียนตอนเช้า เพื่อดูปัญหาการเดินทาง การจราจร รวมถึงรับฟังปัญหาและข้อแนะนำจากผู้ปกครองด้วย ขณะเดียวกันการจัดการเรียนการสอนใน 2 สัปดาห์แรก ไม่อยากให้เน้นวิชาการมากนัก แต่อยากให้เตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตในโรงเรียน
ซึ่งภาคเรียนที่ 1 นี้ สพฐ.ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นห้องเรียนเป็นสำคัญ โดยจะปรับโครงสร้างเวลาเรียนครั้งใหญ่ เน้นกระจายอำนาจให้โรงเรียนบริหารจัดการโครงสร้างเวลาได้เอง โดยระดับชั้น ป.1 จะเน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ส่วนระดับชั้นอื่นๆ จะให้ความสำคัญใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ใช้ในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯที่เหลือ คือ ศิลปะ พลศึกษาและสุขศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี จะจัดสอบโดย สพท.ซึ่งจะต้องระดมครูจากโรงเรียนต่างๆ ร่วมกันออกข้อสอบ รวมถึงจะปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ที่ให้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และบริติช เคานซิล ช่วยวางระบบใหม่
"ส่วนโรงเรียนในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ที่เพิ่งมีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เบื้องต้นทุกโรงเรียนเปิดเรียนได้ตามปกติ สพฐ.ได้กำชับให้เขตพื้นที่ฯติดตามดูแลความปลอดภัยของครูและนักเรียน โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างบ้านกับโรงเรียน โดยที่ผ่านมาได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ในโรงเรียน จ้างฝ่ายรักษาความปลอดภัยเพิ่ม รวมถึงติดตั้งกล้องวงจรปิดที่เชื่อมต่อสัญญาณภาพกับฝ่ายความมั่นคงโดยตรง และได้กำชับไปยังโรงเรียนพื้นที่เสี่ยงว่าการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำสื่อการเรียนการสอน การออกข้อสอบของครู ขอให้รวมกันทำที่เขตพื้นที่ฯ ไม่ให้ทำภายในโรงเรียน เพราะอาจเกิดอันตรายได้" นายกมลกล่าว
นายกมล กล่าวต่อว่า กรณีที่คณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ของชาติ (ภตช.) ระบุว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ในการรับนักเรียนโดยไม่เป็นธรรม หรือแป๊ะเจี๊ยะ โดยเฉพาะโรงเรียนที่แข่งขันสูง 366 แห่งนั้น พร้อมให้ ภตช.เข้ามาตรวจสอบว่ามีโรงเรียนใดบ้างที่เรียกแป๊ะเจี๊ยะ ขอยืนยันว่านโยบายการรับนักเรียนของ สพฐ.โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ เข้าใจดีว่าโรงเรียนดังที่มีอัตราการแข่งขันสูง ผู้ปกครองก็อยากให้บุตรหลานเข้าเรียน แต่ยืนยันว่ากระบวนการการรับนักเรียนของโรงเรียนดังเหล่านี้ต้องดำเนินการ อย่างถูกต้องตามระเบียบการรับนักเรียนของ สพฐ.ไม่ว่าจะเป็นการสอบคัดเลือก การจับสลาก อีกทั้ง โรงเรียนทุกโรงมีคำอธิบายให้แก่ผู้ปกครองอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงมั่นใจว่าไม่มีกระบวนการเด็กฝาก หรือเรียกแป๊ะเจี๊ยะแน่นอน
"ส่วน ที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ห่วงใยว่าในช่วงเปิดภาคเรียน อาจมีการระบาดของโรคมือเท้าปาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กนั้น ได้ให้ทุกแห่งทำความสะอาดก่อนเปิดเทอมแล้ว อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะประสานไปยัง นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. ขอข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคในเชิงลึกว่าระบาดที่ใดบ้าง เพื่อจะได้กำชับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ" นายกมลกล่าว
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาได้เน้นย้ำมาตรการรักษาความปลอดภัยของครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง ศธ.ได้ทำแผนร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้ามาโดยตลอด ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่ยังเปิดเรียนได้ตามปกติ